วัดป่าพระสถิตย์ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
ชาติกำเนิด และชีวิตปฐมวัย
ท่านพระครูปัญญาวิสุทธิ์ มีนามเดิมว่า บัวพา แสงศรี เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2454 เป็นบุตรคนโต (ในจำนวน 7 คน) ของนายหยาดและนางทองสา แสงศรี มีอาชีพทำนาทำไร่ ชาติภูมิอยู่บ้านบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันนี้ขึ้นกับจังหวัดยโสธร) ต่อมาบิดามารดาได้อพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านกุดกุง ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร อุปนิสัยของเด็กชายบัวพา แสงศรี เป็นคนพูดน้อย มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเชื่อฟังผู้ใหญ่ เป็นคนว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาทของบิดามารดาเมื่ออายุครบเกณฑ์เข้าเรียนหนังสือ ก็เข้าโรงเรียนประชาบาลประจำหมู่บ้าน จนจบหลักสูตรของการศึกษาในสมัยนั้น
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
ครั้นนายบัวพา แสงศรี อายุได้ 21 ปี บิดามารดาเห็นว่า สมควรจะบวชได้แล้ว จึงจัดเตรียมกองบวชให้ลูกชาย และจัดการอุปสมบทในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475 ณ สีมาน้ำวัดบ้านกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันนี้ขึ้นกับจังหวัดยโสธร) โดยมีพระอาจารย์ม่อน ยโสธโร เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ก็ได้จำพรรษาอยู่วัดบ้านกุดกุง ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้วเพื่อนสหธรรมิกมาชวนไปปฏิบัติกรรมฐานออกธุดงค์ในป่าเพื่อทดลองดูว่า จิตใจจะยึดมั่นในทางปฏิบัติได้หรือไม่
ด้วยความใฝ่ใจในการฝึกฝนอบรมจิต พระบัวพา ปญฺญาภาโส จึงไปฝึกปฏิบัติพระกรรมฐานกับเพื่อนสหธรรมิกาที่วัดป่าบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี พระภิกษุที่ไปด้วยกันคราวนั้น เมื่อปฏิบัติกรรมฐานไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดศรัทธาปสาทะ จึงขอทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตหมดทุกรูป แต่ตอนนั้นพระภิกษุบัวพา ปญฺญาภาโส ยังไม่พร้อมที่จะขอญัตติเป็นพระธรรมยุต ยังพิจารณาว่า จะควรทำหรือไม่ เพราะยังไม่ได้บอกลาอุปัชฌาย์อาจารย์
พระภิกษุบัวพาเห็นว่าควรลองปฏิบัติกรรมฐานไปเรื่อยๆ ก่อน ถ้าเห็นว่าเหมาะว่าควร จึงจะขอทำทัฬหิกรรม ญัตติเป็นพระธรรมยุตในภายหลัง ประกอบกับครูบาอาจารย์อยากให้ท่านเรียนปริยัติธรรม ด้านสนธิและมูลกัจจายนะ พอให้
มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมเสียก่อน แล้วค่อยออกปฏิบัติกรรมฐานในโอกาสต่อไป
ดังนั้นพระภิกษุบัวพา จึงไปเรียนหนังสือที่วัดบ้านไผ่ใหญ่ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ 1 พรรษา ครั้นออกพรรษาแล้วจึงยังย้อนกลับมาอยู่กับ พระอาจารย์ม่อน ยโสธโร ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านคือ วัดบ้านปอแดง และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนสนธิและมูลกัจจายนะเพิ่มเติมอีก
พอว่างจากการเรียนหนังสือ พระภิกษุบัวพาก็ชอบอยู่ในที่สงัดเช่น ตามโคนต้นไม้ ตามป่า เป็นต้น ซึ่งในสมัยนั้นหาได้ง่าย ท่านมีใจใฝ่ในการปฏิบัติกรรมฐานตลอดมา ฉันมื้อเดียวเป็นประจำ พอออกพรรษาแล้ว มีเพื่อนชวนไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดป่าบ้านโนนทัน พระที่ไปด้วยกันได้ขอทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตหมด ยังเหลือแต่พระภิกษุบัวพา ปญฺญาภาโสที่ยังไม่พร้อมที่จะญัตติเป็นพระธรรมยุต เหมือนเช่นเคย เนื่องจากยังไม่ได้บอกลาพระอุปัชฌาย์
ในปีนั้นท่านได้ปฏิบัติกรรมฐานอยู่วัดป่าบ้านโนนทัน กับท่านพระอาจารย์ทอง ฝึกหัดนั่งสมาธิ เดินจงกรมบำเพ็ญเพียรในอิริยาบถต่างๆ รู้สึกว่าจิตใจสงบร่มเย็นขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่นั้นต่อมาท่านก็เลยเลิกเรียนปริยัติ มุ่งหน้าแต่ด้านปฏิบัติกรรมฐานเพียงอย่างเดียว
ด้วยเหตุที่มีจิตใจมุ่งมั่นในการปฏิบัติกรรมฐาน พระภิกษุบัวพา จึงออกเดินทางไปวัดสีฐาน อำเภอมหาชนะชัยเพื่อฝึกอบรมกรรมฐานให้ได้ผล และแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความชำนาญในการสอนกรรมฐาน
ในช่วงนั้นชื่อเสียงและปฏิปทาของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ทางด้านการสอนกรรมฐานกำลังเลื่องลือและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป พระภิกษุบัวพาก็อยากจะพบเห็น เพื่อจะได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทั้งสอง จึงได้ชักชวนเพื่อนสหธรรมิกเดินทางไปยังจังหวัดสกลนคร
การเดินทางในสมัยนั้นลำบากมากเพราะไม่มีถนน ไม่มีรถยนต์ ต้องเดินทางไปตามทางเกวียน ผ่านป่าดงหนาทึบข้ามภูเขาหลายลูก คณะของพระภิกษุบัวพาจึงออกเดินทางจากอำเภอมหาชนะชัย ไปจังหวัดสกลนคร
ในขณะเดียวกันก็มีคณะพระภิกษุสามเณรจะเดินทางไปอำเภอบัวขาว จังหวัดกาฬสินธุ์ และจะต่อไปยังสกลนคร พระภิกษุบัวพาจึงขอเดินทางร่วมไปด้วย เมื่อไปถึงสกลนคร ก็ได้เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลที่วัดป่าสุทธาวาส ขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของท่าน
เมื่อฝึกปฏิบัติกรรมฐานไปได้ระยะหนึ่ง จิตใจของท่านรู้สึกสงบเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ท่านจึงตกลงใจว่า สมควรที่จะขอทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตได้แล้ว
ดังนั้นหลวงปู่เสาร์จึงสั่งการให้จัดเตรียมบริขารเป็นต้นว่า ผ้าจีวร ผ้าสังฆาฏิและผ้าสบง เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว หลวงปู่เสาร์จึงสั่งให้พระภิกษุ 2 รูป นำคณะของพระภิกษุบัวพาเดินทางไปขอทำทัฬหิกรรมญัตติเป็นพระธรรมยุตที่จังหวัดนครพนม
พิธีการอุปสมบทเป็นพระธรรมยุต ครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 ณ พัทธสีมา วัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมีพระครูสารภาณมุนี (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาพรหมา โชติโก ป.ธ.5. น.ธ. เอก (ต่อมาเป็นพระราชสุทธาจารย์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ต่อจากนั้นพระภิกษุบัวพาและคณะจึงได้เดินทางกลับไปยังสกลนครอยู่ปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล นับว่าพระภิกษุบัวพาได้ครูบาอาจารย์ที่ชำนาญในพระกรรมฐานเป็นผู้แนะนำพร่ำสอน สมความมุ่งหวังที่ท่านตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก
ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติกรรมฐานอย่างเต็มที่ และในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่เสาร์เรื่อยมา จนถึงกาลสุดท้ายของหลวงปู่เสาร์
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว หลวงปู่เสาร์มักจะพาหมู่คณะออกธุดงค์ เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านรู้จักอดทนและยึดมั่นในหลักไตรสิกขา พระภิกษุบัวพาก็ได้ติดตามหลวงปู่เสาร์ไปในที่ต่างๆ รู้สึกว่าได้ประโยชน์มากมาย สถานที่ที่หลวงปู่เสาร์พาลูกศิษย์ออกไปแสวงหาวิเวกนั้นส่วนมากก็จะเป็นป่าเขา ลำเนาไพร ซึ่งไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านมากเกินไป พอจะไปภิกขาจารได้
หลวงปู่เสาร์พาหมู่คณะเดินธุดงค์ไปถึงนครพนมแล้ว เข้าพักอาศัยอยู่วัดป่าอรัญญิกาวาสประมาณสองเดือน จึงลงเรือล่องมาตามแม่น้ำโขงมาขึ้นที่พระธาตุพนม ไปพักที่วัดเกาะแก้ว ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ได้สร้างไว้ พักอยู่ที่นั้นประมาณเดือนกว่า พอดีญาติโยมทางอุบลฯ ไปนิมนต์หลวงปู่เสาร์ให้ไปโปรดประชาชนทางอุบลฯ บ้าง เมื่อหลวงปู่เสาร์รับนิมนต์แล้ว จึงได้คัดเลือกเอาพระภิกษุ 2 รูป สามเณร 1 รูป และอุบาสก (คือชีปะขาว) 1 คน เดินทางไปด้วย ในจำนวนนั้นมีพระภิกษุบัวพาอยู่ด้วย โดยที่หลวงปู่เสาร์ได้ปรารภว่า
"คุณรูปหนึ่งละที่ต้องไปกับฉัน เพราะเป็นคนทางเดียวกัน เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้ดูแลกัน"
นับว่าเป็นนิมิตหมายอันสำคัญยิ่งที่หลวงปู่เสาร์พูดปรารภความเจ็บป่วยให้พระภิกษุบัวพาช่วยดูแล ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะต่อมาพระภิกษุบัวพาก็ได้ตามอุปัฏฐากดูแลหลวงปู่เสาร์อย่างใกล้ชิด จนถึงวันหลวงปู่เสาร์มรณภาพ
คณะของหลวงปู่เสาร์ได้ออกเดินทางโดยรถยนต์ที่ญาติโยมชาวอุบลฯ นำไปรับพักค้างคืน 1 คืน ที่อำเภออำนาจเจริญ เนื่องจากถนนหนทางในสมัยนั้นไม่ดี ใช้เวลาเดินทาง 2 วันจึงถึงจังหวัดอุบลราชธานี ไปพักอยู่วัดบูรพา
ต่อมาหลวงปู่เสาร์ได้ไปสร้างวัดใหม่ (วัดป่าหนองอ้อ) เป็นป่าปู่ตา ใกล้หนองอ้อ บ้านข่าโคม อำเภอเขื่องใน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่เสาร์ ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดสร้างใหม่นี้ 3 พรรษา ต่อจากนั้นก็ได้ออกธุดงค์แสวงหาวิเวกไปทางอำเภอพิบูลมังสาหาร พักบำเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ที่ดอนธาตุ บ้านทรายมูลซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำมูล มีต้นยางใหญ่ร่มรื่นสงบสงัด เหมาะแก่การเจริญสมณธรรม
หลวงปู่เสาร์พร้อมด้วยพระภิกษุบัวพาจึงได้จัดสร้างวัดลงที่นั่น เป็นวัดมั่นคงตราบเท่าทุกวันนี้ มีชื่อว่าวัดดอนธาตุ หลวงปู่เสาร์กับพระภิกษุบัวพาได้อยู่ที่นั้น 3 พรรษา
หลังออกพรรษาแล้วทุกปี หลวงปู่เสาร์ก็จะพาพระสงฆ์ออกธุดงค์ไปทางนครจำปาศักดิ์ ลี่ผี ปากเซ ฝั่งประเทศลาว แล้วก็ย้อนกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนธาตุอีก
เมื่อ พ.ศ. 2482 บ่ายวันหนึ่งขณะที่หลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่โคนต้นยางใหญ่ พอดีมีเหยี่ยวตัวหนึ่งบินโฉบลงมาเอารวงผึ้งอยู่บนต้นไม้ที่หลวงปู่เสาร์นั่งสมาธิอยู่ รวงผึ้งขาดตกลงมาใกล้ๆ กับที่หลวงปู่นั่งอยู่ ตัวผึ้งได้รุมกัดต่อยหลวงปู่ จนต้องหลบเข้าไปในมุ้งกลดมันจึงพากันหนีไป นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่เสาร์ก็อาพาธเรื่อยมา โดยมีพระภิกษุบัวพาเป็นผู้อุปัฏฐากดูแลอย่างใกล้ชิด
ต่อมาหลวงปู่เสาร์พาพระภิกษุบัวพาไปเดินธุดงค์ทางปากเซ จำปาศักดิ์ไปประเทศลาว ในระยะนี้หลวงปู่เสาร์อาพาธหนักจึงสั่งให้พระภิกษุบัวพา นำท่าน
กลับมาที่วัดอำมาตย์ นครจำปาศักดิ์ ล่องเรือมาตั้งแต่เช้าจนค่ำ นอนบนแคร่ในเรือประทุน หลวงปู่เสาร์หลับตานิ่งมาตลอดเมื่อถึงนครจำปาศักดิ์แล้วท่านก็ลืมตาขึ้นพูดว่า "ถึงแล้วใช่ไหม- ? ให้นำเราไปยังพระอุโบสถเลย เราจะไปตายที่นั่น"
พระภิกษุบัวพาจึงได้นำหลวงปู่เสาร์เข้าไปในโบสถ์ หลวงปู่เสาร์สั่งให้เอาผ้าสังฆาฎิมาใส่ ท่านกราบพระ 3 ครั้งแล้วนั่งสมาธิไม่ขยับเขยื้อนนานเท่านานจนผิดสังเกต พระภิกษุบัวพาซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ เอามือไปแตะที่จมูก ปรากฏว่าหลวงปู่เสาร์ได้หมดลมหายใจไปแล้ว เลยไม่ทราบว่า ท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปในเวลาใดกันแน่
ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ชาวนครจำปาศักดิ์ขอให้ตั้งศพไว้บำเพ็ญกุศลอยู่ 3 วันเพื่อบูชาหลวงปู่ ครั้นวันที่ 4 ชาวอุบลจึงได้ไปเชิญศพของท่านไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี ในปีต่อมาคือ พ.ศ. 2484 จึงมีพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสาร์
ครั้นเสร็จจากงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่เสาร์แล้ว พระภิกษุบัวพา ปญฺญาภาโส ซึ่งตอนนั้นมีพรรษาได้ 9 พรรษา ได้รับนิมนต์จากญาติโยมวัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ให้กลับไปจำพรรษาที่นั่น ท่านจึงได้โปรดญาติโยมที่วัดดอนธาตุ 1 พรรษา ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านก็ออกเดินธุดงค์ลงมาทางบ้านเดิม ซึ่งโยมบิดามารดาทำมาหากินอยู่ที่นั่น คือ บ้านกุดกุง ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ท่านไปโปรดโยมมารดา และชาวบ้าน จนมีคนเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก
ต่อมาพระภิกษุบัวพา ปญฺญาภาโส ได้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านโคก อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครกับพระอาจารย์กงมา ช่วงนั้นหลวงปู่มั่นจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านนามนซึ่งไม่ห่างไกลจากวัดป่าบ้านโคก ดังนั้นในพรรษา พระอาจารย์กงมากับพระภิกษุบัวพาก็จะพากันไปฝึกอบรมกรรมฐานและฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่น 3 วันต่อ 1 ครั้งทำให้พระภิกษุบัวพาได้รับความรู้ความเข้าใจในหลักปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น เพลิดเพลินในหลักภาวนา
เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงกราบลาหลวงปู่มั่นออกเดินธุดงค์แสวงหาความสงบวิเวกไปเรื่อยๆ จนถึงวัดป่าบ้านกุดแห้งแล้วพักจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์ดี ฉนฺโน 1 พรรษา
หลังจากออกพรรษาแล้วก็เดินธุดงค์ไปโปรดญาติโยมพี่น้องซึ่งอพยพมาจากอุบลฯ มาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีและจำพรรษาอยู่ 1 พรรษา โดยมี หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เป็นหัวหน้าคณะ
ออกพรรษาแล้วท่านได้กลับไปโปรดญาติโยมบ้านกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ตอนนั้นโยมมารดาของท่านได้บวชเป็นชี และได้ติดตามท่านไปจำพรรษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ท่านได้อบรมสั่งสอนพระภิกษุสามเณรและญาติโยมให้ยึดมั่นในพระรัตนตรัย และฝึกอบรมในการปฏิบัติกรรมฐาน
เมื่ออกพรรษาแล้ว ในปี พ.ศ.- 2490 ท่านได้พาแม่ชีที่เป็นมารดาพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรจำนวนหนึ่งออกธุดงค์ เดินทางจากวัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ผ่านจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี แล้วเข้าเขตจังหวัดหนองคายไปพักอยู่ที่วัดป่าพระสถิตย์ อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนตราบเท่าทุกวันนี้
เดิมทีเดียวนั้นสถานที่แห่งนี้เป็นเพียงโคกหรือป่าช้า อันเป็นที่เลี้ยงโคกระบือของชาวบ้านและยังเป็นวัดร้างอีกด้วย หลังจากที่พระภิกษุบัวพา และคณะได้มาปักหลักอยู่ที่นี่ก็มีชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา ช่วยกันพัฒนาที่อยู่ที่อาศัยจัด สร้างเสนาสนะและพระอุโบสถ จนเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองแล้วตั้งชื่อเป็น "วัดป่าพระสถิตย์"
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา ทางสำนักพระราชวังได้นิมนต์หลวงปู่บัวพาไปในงานพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลของสำนักพระราชวัง เป็นประจำทุกปี ส่วนมากหลวงปู่บัวพาจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับท่านเจ้าคุณพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) หลวงปู่บัวพาได้บำเพ็ญศาสนกิจ ฝึกอบรมสานุศิษย์เรื่อยมา
ครั้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่บัวพาได้รับนิมนต์ไปในพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันเฉลิมพระชนพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในพระราชวัง หลวงปู่บัวพาได้เป็นลมอาพาธกะทันหันในงานพระราชพิธีนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จึงรับสั่งให้แพทย์หลวงถวายการรักษา และนำหลวงปู่ส่งโรงพยาบาลวิชัยยุทธ และได้รับหลวงปู่บัวพาไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และเสด็จไปเยี่ยมในขณะที่หลวงปู่อยู่โรงพยาบาลถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งอาการของหลวงปู่บัวพาดีขึ้นจึงได้ออกจากโรงพยาบาลในปลายเดือน กันยายน 2528
พ.ศ. 2519 หลวงปู่บัวพาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศชั้นตรีที่ พระครูปัญญาวิสุทธิ์ เป็นเจ้าคณะตำบลบ้านหม้อ เขต 2 อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย หลวงปู่ได้แนะนำสั่งสอนประชาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักศีลธรรม ถือหลักกตัญญูกตเวทีเป็นสำคัญ ทางด้านการปกครองคณะสงฆ์ในฐานะที่หลวงปู่เป็นเจ้าคณะตำบล ท่านได้อบรมแนะนำพร่ำสอนให้พระภิกษุสามเณรเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เคารพกฎระเบียบของคณะสงฆ์ วางตนให้อยู่ในฐานะอันเหมาะสม
ธรรมโอวาท
หลักธรรมที่หลวงปู่บัวพาเทศนาอบรมสั่งสอนมักจะเป็นเรื่องการฝึกฝนอบรมจิตใจและการรู้จักสภาพที่แท้จริงของจิต ท่านสอนว่า
"ธรรมชาติของปกติจิต คือพื้นที่ของภวังคจิต เป็นจิตที่ผ่องใสไพโรจน์ จิตที่แปรผันออกจากพื้นที่ของมันเพราะตัวอวิชชา คือ ความไม่รู้เท่าทันต่อโลก ไม่รู้เท่าทันต่ออารมณ์ จิตจึงได้ผันแปรออกจาก "ความปกติ" (หมายถึงความสงบ) แล้วกลายเป็นบุญหรือกลายเป็นบาป
บุญก็ดีบาปก็ดีท่านเรียกว่า "เจตสิกธรรม" ซึ่งมีอยู่ประจำโลก เป็นกลางๆ ไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ บุญหรือบาปไม่ได้วิ่งเข้าไปหาใครมีแต่ตัวบุคคลเท่านั้นที่วิ่งเข้าไปหาบุญแลบาป บุญนั้นมีผลเป็นความสุข ส่วนบาปมีผลเป็นความทุกข์
อารมณ์ 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ จึงเปรียบเหมือนลม 6 จำพวก ทวาร 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และหทัยวัตถุ เปรียบเหมือนฝั่งมหาสมุทร จิตใจของคนเราก็เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทร เมื่อลม 6 จำพวก เกิดเป็นพายุใหญ่ในเวลาฝนตกทำให้น้ำในมหาสมุทรเกิดเป็นคลื่นแล้วระลอกใหญ่โตเรือ แพ หลบไม่ทันก็ล่มจมเสียหายขึ้นนี้ฉันใด อุปมัยดังพาลชนไม่รู้เท่าทันโลก ไม่รู้เท่าทันอารมณ์ปล่อยให้โลกเข้ามาประสมธรรมปล่อยให้อารมณ์เข้ามาประสมจิต จึงเกิดราคะ โทสะ โมหะ
ถ้าอยากเห็นวิมุตติ ก็ให้เพิกถอนสมมุติออกให้หมดเพราะโลกบังธรรม อารมณ์บังจิตฉันใด สมมุติก็บังวิมุตติฉันนั้น คนเราควรใช้สติปัญญาเป็นกล้องส่องใจจะได้รู้ว่าสภาพที่แท้จริงของจิตเป็นอย่างไร"