Language
 - 
Afrikaans
 - 
af
Albanian
 - 
sq
Amharic
 - 
am
Arabic
 - 
ar
Armenian
 - 
hy
Azerbaijani
 - 
az
Basque
 - 
eu
Belarusian
 - 
be
Bengali
 - 
bn
Bosnian
 - 
bs
Bulgarian
 - 
bg
Catalan
 - 
ca
Cebuano
 - 
ceb
Chichewa
 - 
ny
Chinese (Simplified)
 - 
zh-CN
Chinese (Traditional)
 - 
zh-TW
Corsican
 - 
co
Croatian
 - 
hr
Czech
 - 
cs
Danish
 - 
da
Dutch
 - 
nl
English
 - 
en
Esperanto
 - 
eo
Estonian
 - 
et
Filipino
 - 
tl
Finnish
 - 
fi
French
 - 
fr
Frisian
 - 
fy
Galician
 - 
gl
Georgian
 - 
ka
German
 - 
de
Greek
 - 
el
Gujarati
 - 
gu
Haitian Creole
 - 
ht
Hausa
 - 
ha
Hawaiian
 - 
haw
Hebrew
 - 
iw
Hindi
 - 
hi
Hmong
 - 
hmn
Hungarian
 - 
hu
Icelandic
 - 
is
Igbo
 - 
ig
Indonesian
 - 
id
Irish
 - 
ga
Italian
 - 
it
Japanese
 - 
ja
Javanese
 - 
jw
Kannada
 - 
kn
Kazakh
 - 
kk
Khmer
 - 
km
Korean
 - 
ko
Kurdish (Kurmanji)
 - 
ku
Kyrgyz
 - 
ky
Lao
 - 
lo
Latin
 - 
la
Latvian
 - 
lv
Lithuanian
 - 
lt
Luxembourgish
 - 
lb
Macedonian
 - 
mk
Malagasy
 - 
mg
Malay
 - 
ms
Malayalam
 - 
ml
Maltese
 - 
mt
Maori
 - 
mi
Marathi
 - 
mr
Mongolian
 - 
mn
Myanmar (Burmese)
 - 
my
Nepali
 - 
ne
Norwegian
 - 
no
Pashto
 - 
ps
Persian
 - 
fa
Polish
 - 
pl
Portuguese
 - 
pt
Punjabi
 - 
pa
Romanian
 - 
ro
Russian
 - 
ru
Samoan
 - 
sm
Scots Gaelic
 - 
gd
Serbian
 - 
sr
Sesotho
 - 
st
Shona
 - 
sn
Sindhi
 - 
sd
Sinhala
 - 
si
Slovak
 - 
sk
Slovenian
 - 
sl
Somali
 - 
so
Spanish
 - 
es
Sundanese
 - 
su
Swahili
 - 
sw
Swedish
 - 
sv
Tajik
 - 
tg
Tamil
 - 
ta
Telugu
 - 
te
Thai
 - 
th
Turkish
 - 
tr
Ukrainian
 - 
uk
Urdu
 - 
ur
Uzbek
 - 
uz
Vietnamese
 - 
vi
Welsh
 - 
cy
Xhosa
 - 
xh
Yiddish
 - 
yi
Yoruba
 - 
yo
Zulu
 - 
zu

กาลานุกรม

โซนที่ ๒ พระธรรม

กาลานุกรม

กาลานุกรม พุทธศาสนาในอารยธรรมโลก

เนื้อหาของโซนนี้ได้คัดย่อเนื้อหามาจากหนังสือกาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก ซึ่งนิพนธ์โดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พุทธศาสนา กับอารยธรรมของโลกในยุคต่าง ๆ เพื่อให้ศึกษาและเรียนรู้ถึงความเป็นไปของพระพุทธศาสนาในยุคต่าง ๆ  ที่มีทั้งยุคแห่งความเจริญรุ่งเรืองและยุคแห่งความเสื่อม จนกระทั่งสูญหายไปจากดินแดนพุทธภูมิ (คือประเทศอินเดีย) และเริ่มกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญที่ได้เกิดขึ้นในซีกโลกอื่นไว้ให้เทียบเคียงอีกด้วย

กาลานุกรม พระพุทธศาสนาในอารยธรรมโลก

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ก่อนพุทธศักราช

ก่อนพุทธกาล อารยธรรมชมพูทวีป 

c. 2600-1500 B.C. [2000-900 ปี ก่อน พ.ศ.] ยุคอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (Indus civilization)

อารยธรรมนี้เจริญมาก มีเมืองที่จัดวางผังอย่างดี พร้อมทั้งระบบชลประทาน รู้จักเขียนตัวหนังสือ มีมาตราชั่ง-ตวง-วัด นับถือเทพเจ้าซึ่งมีลักษณะอย่างที่เป็นพระศิวะในยุคหลังต่อมา อารยธรรมนี้แผ่ขยายกว้างขวาง ทางตะวันตกถึงชายแดนอิหร่าน ทางเหนือถึง สุดเขตอัฟกานิสถาน ทางตะวันออกถึงกรุงนิวเดลีปัจจุบัน

1500-1200 B.C. [900-600 ปีก่อน พ.ศ.] ชนเผ่าอารยัน ยกจากที่ราบสูงอิหร่านหรือเปอร์เซีย เข้ามารุกรานและครอบครองตลอดลงไปถึงลุ่มแม่น้ำคงคา พร้อมทั้งนำศาสนาพราหมณ์ ภาษาสันสกฤต และระบบวรรณะเข้ามาด้วย อารยธรรมเริ่มเข้าสู่ยุคเหล็ก

ชมพูทวีป-พุทธศาสนา

16 แคว้นแห่งชมพูทวีป

623 BC ชมพูทวีปแบ่งเป็น 16 แคว้น (โสฬสมหาชนบท) นับจากตะวันออกขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ คือ อังคะ มคธ  กาสี  โกศล  วัชชี  มัลละ  เจตี  วังสะ กุรุ ปัญจาละ มัจฉะ สุรเสนะ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ (กัมโพชะ บางทีเรียกควบกับ “โยนะ” เป็นโยนะ-กัมโพชะ หรือ โยนก-กัมโพชะ)

ใน 16 นี้ แคว้นที่จะมีอำนาจสูงสุดต่อไปคือ มคธ


ประสูติ-ตรัสรู้-ประกาศพระศาสนา

80 ปี ก.พ.ศ. (=623 BC; ฝรั่งว่า 563 BC)  เจ้าชายสิทธัตถะโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา แห่งแคว้นศากยะ  ประสูติที่ลุมพินีวัน  ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวทหะ หลังประสูติแล้ว 7 วัน พระพุทธมารดาสวรรคต

51 ปี ก.พ.ศ. (=594 BC) เจ้าชายสิทธัตถะ พระชนมายุ 29 พรรษา เสด็จออกผนวช (มหาภิเนษกรมณ์) ที่อโนมานที

45 ปี ก.พ.ศ. (=588 BC) ในวันเพ็ญวิสาขปุรณมี เจ้าชายสิทธัตถะพระชนมายุ 35 พรรษา ตรัสรู้เป็นพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ที่มหาโพธิพฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม (ปัจจุบัน เรียกว่า”พุทธคยา”) ในแคว้นมคธ

2 เดือนจากนั้น ในวันเพ็ญอาสาฬหปุรณมี  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา  ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  แก่พระเบญจวัคคีย์  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี 

ที่ป่านั้น ต่อมาไม่นาน หลังจากยสกุลบุตร 1 และสหาย 54 คน ออกบวชและบรรลุอรหัตตผลแล้ว เกิดมีพระอรหันตสาวกยุคแรก 60 รูป จึงทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาด้วยพุทธพจน์ ซึ่งมีตอนสำคัญที่จำเป็นหลักกันสืบมาว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” (ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก)

ประดิษฐานพระศาสนาในแคว้นมคธ 

ต่อนั้น นับแต่ตรัสรู้ได้ 9 เดือน หลังเสด็จจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ย้อนกลับมาแคว้นมคธ โปรดชฎิล 1,000 ที่คยาสีสะแล้ว เสด็จเข้าเมืองราชคฤห์ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพาร ได้รับถวายพระเวฬุวันเป็นอารามแรกในพระพุทธศาสนา

ทรงบำเพ็ญพุทธกิจประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ ทรงได้อัครสาวก คือพระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ อดีตปริพาชก (ชื่อเดิมว่า อุปติสสะ และโกลิตะ) พร้อมบริวาร ซึ่งได้ออกบรรพชา รวมเป็น 250

โดยเฉพาะเมื่อพระสารีบุตรบรรลุอรหัตตผล พอดีถึงวันมาฆปุรณมี ราตรีนั้นมีจาตุรงคสันนิบาต พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ในที่ประชุมพระอรหันตสาวก 1,250 รูป

ในปีที่ 3 แห่งพุทธกิจ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเลื่อมใสได้เป็นอุบาสกแล้วสร้างวัดพระเชตวันถวาย ที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศลอันเป็นอารามที่ประทับและแสดงธรรมมากที่สุด รวม 19 พรรษา (รองลงมา คือวัดบุพพาราม ที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาสร้างถวาย ในเมืองสาวัตถี เช่นกัน ซึ่งได้ประทับรวม 6 พรรษา)


พุทธประวัติตรัสเล่า

เรา ในบัดนี้ ผู้สัมพุทธโคดม เจริญมาในศากยสกุล … นครอันเป็นถิ่นแดนของเราชื่อว่ากบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระบิดา พระมารดาผู้ชนนีมีพระนามว่า มายาเทวี         

เราครองอาคาริยวิสัยอยู่ 29 พรรษา มีปราสาท 3 หลัง ชื่อว่า  สุจันทะ โกกนุท และโกญจะ พร้อมด้วยสตรีสี่หมื่นนางเฝ้าแหนอลังการ ยอดนารีมีนามว่ายโสธรา โอรสนามว่าราหุล 

เราเห็นนิมิต 4 ประการแล้ว สละออกผนวชด้วยม้าเป็นราชยาน บำเพ็ญเพียรอันเป็นทุกรกิริยาสิ้นเวลา 6 ปี (ครั้นตรัสรู้แล้ว) ได้ประกาศธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในถิ่นแห่งพาราณสี 

เรา ผู้โคตมสัมพุทธ เป็นที่พึ่งของมวลประชา มีภิกษุ 2 รูป เป็นอัครสาวก คือ อุปดิสส์ และโกลิต มีอุปัฏฐากอยู่ภายในใกล้ชิดชื่อว่า อานนท์ ภิกษุณีที่เป็นคู่อัครสาวิกา คือ เขมา และอุบลวรรณา อุบาสกผู้เป็นอัครอุปัฏฐาก คือ จิตตะ และหัตถาฬวกะ กับทั้งอุบาสิกาที่เป็นอัครอุปัฏฐายิกา คือ นันทมารดา และอุตตรา 

เราบรรลุอุดมสัมโพธิญาณที่ควงไม้อัสสัตถพฤกษา (แต่นั้นมา) รัศมีหนึ่งวาวงรอบกายของเราอยู่เสมอพวยพุ่งสูง 16 ศอก อายุขัยของเราบัดนี้ เล็กน้อยเพียงแค่ในร้อยปี แต่ชั่วเวลาเท่าที่ดำรงชีวีอยู่นั้น เราได้ช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏสงสารไปได้มากมาย ทั้งตั้งคบเพลิงธรรมไว้ปลุกคนภายหลังให้เกิดปัญญาที่จะตื่นขึ้นมาตรัสรู้ต่อไป

อีกไม่นานเลย แม้เรา พร้อมทั้งหมู่สงฆ์สาวก ก็จะปรินิพพาน ณ ที่นี้แล เหมือนดังไฟที่ดับไปเพราะสิ้นเชื้อ ประดาเดชอันไม่มีใดเทียบได้ ความยิ่งใหญ่ ทศพลญาณ และฤทธาปาฏิหาริย์ หมดทั้งสิ้นเหล่านี้ พร้อมทั้งเรือนร่างวรกายที่ทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติ วิจิตรด้วยวรลักษณ์ทั้ง 32 ประการ อันมีดวงประภาฉัพพรรณรังสี ที่ได้ฉายแสงสว่างไสวไปทั่วทศทิศ ดุจดวงอาทิตย์ศตรังสี ก็จักพลันลับดับหาย สังขารทั้งหลายล้วนว่างเปล่าดังนี้มิใช่หรือ 

(โคตมพุทฺธวํส, ขุ.พุทธ.33/26/543)


สังขารไม่เที่ยงแท้ยั่งยืน ควรจะคลายหายหื่นหายเมา

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล … ได้ตรัสดังนี้ว่า … 

ภิกษุทั้งหลาย ในกาลก่อนได้เคยเป็นมาแล้ว ภูเขาเวปุลละนี้ได้เกิดมีชื่อว่าปาจีนวังสะ สมัยนั้นแล เหล่าประชาชนได้ชื่อว่าชาวติวรา … จงดูเถิด ชื่อภูเขานี้ที่เรียกว่าปาจีนวังสะนั้น ก็อันตรธานไปแล้ว ประชาชนชาวติวราเหล่านั้นก็ดับชีพลับหายไปแล้ว … 

ภูเขาเวปุลละนี้ได้เกิดมีชื่อว่าวงกต สมัยนั้นแล เหล่าประชาชนได้ชื่อว่าชาวโรหิตัสสะ … 

ภูเขาเวปุลละนี้ได้เกิดมีชื่อว่าสุปัสสะ สมัยนั้นแล เหล่าประชาชนได้ชื่อว่าชาวสุปปิยา … 

ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้แล ภูเขาเวปุลละนี้มีชื่อว่าเวปุลละนี่แหละ แลบัดนี้ เหล่าประชาชนมีชื่อว่าชาวมคธ … และบัดนี้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ เสด็จอุบัติแล้วในโลก แลเรามีคู่แห่งสาวก ที่เป็นคู่เลิศ เป็นคู่ที่ดีเยี่ยม ชื่อว่าสารีบุตรและโมคคัลลานะ 

ภิกษุทั้งหลาย เวลานั้นจักมาถึง เมื่อชื่อภูเขานี้จักลับหาย หมู่มนุษย์เหล่านี้จักลับล่วงจากไป และเราก็จักปรินิพพาน

ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้ ไม่ยั่งยืนอย่างนี้ ให้ความมั่นใจไม่ได้อย่างนี้ ตามภาวะที่เป็นไปนี้ จึงควรแท้ที่จะหน่ายหายเมาในสรรพสังขาร ควรที่จะเปลื้องคลายโล่งออกไป ควรที่จะพ้นกิเลสไปได้ …

ภูเขาปาจีนวังสะของหมู่ชนชาวติวรา มาเป็นภูเขาวงกตของหมู่ชนชาวโรหิตัสสะ เป็นภูเขาสุปัสสะของหมู่ชนชาวสุปปิยา เป็นภูเขาเวปุลละของหมู่ชนชาวมคธ ไม่เที่ยงเลยหนอ สังขารทั้งหลาย มีอันเกิดขึ้นและเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบวางลงปลงได้แห่งสังขารเหล่านั้นเป็นสุข

 (สํ.นิ.16/456/225)

แม้ชีวิตจะผันแปรทุกข์ภัยเวียนมาสารพัน ผู้รู้ธรรมแล้วรู้ทัน ย่อมมุ่งมั่นพากเพียรต่อไป

ภิกษุทั้งหลาย สำหรับปุถุชนผู้มิได้เล่าเรียนสดับฟัง สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่ … สิ่งที่มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ก็ย่อมเจ็บไข้ … สิ่งที่มีความตายเป็นธรรมดา ก็ย่อมตาย … สิ่งที่มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมเสื่อมสลายไป … สิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมสูญสิ้นไป 

… เมื่อสิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา มาสูญสิ้นไป เขาหาได้มองเห็นตระหนักไม่ว่า มิใช่ว่าสิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้น จะสูญสิ้นไป แท้จริงนั้น ตราบใดที่สัตว์ทั้งหลาย ยังมีการมา มีการไป มีการจากหายเคลื่อนย้าย มีการเกิดขึ้นมาใหม่กันอยู่ สิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมสูญสิ้นไปทั้งนั้น ตัวเราเองนี่แหละ เมื่อสิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดาสูญสิ้นไปแล้ว ถ้าจะมามัวเศร้าโศก คร่ำครวญ ร่ำไร ตีอก ร่ำไห้ ฟูมฟายไป แม้แต่อาหารก็จะไม่อยากรับประทาน ร่างกายก็จะมีผิวพรรณเศร้าหมอง ซูบผอม งานการก็จะสะดุดเสียหาย เหล่าพวกอมิตรก็จะดีใจ ส่วนมิตรทั้งหลายก็จะพลอยใจเสีย

ด้วยประการดังว่านี้ เมื่อสิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา มาสูญสิ้นไป เขาก็ได้แต่เศร้าโศก คร่ำครวญ ร่ำไร ตีอก ร่ำไห้ ฟูมฟายไป 

นี้เรียกว่าปุถุชนผู้มิได้เล่าเรียนสดับฟัง ถูกลูกศรอาบยาพิษคือความโศกเศร้า เสียบแทงเข้าแล้ว ได้แต่ทำตัวเองให้เดือดร้อน

ภิกษุทั้งหลาย ส่วนว่าอริยสาวกผู้ได้เรียนสดับแล้ว สิ่งที่มีความแก่เป็นธรรมดา ก็ย่อมแก่ … สิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมสูญสิ้นไป
… เมื่อสิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา มาสูญสิ้นไป เขามองเห็นตระหนักดังนี้ว่า มิใช่ว่าสิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดาของเราผู้เดียวเท่านั้น จะสูญสิ้นไป แท้จริงนั้น ตราบใดที่สัตว์ทั้งหลาย ยังมีการมา มีการไป มีการจากหายเคลื่อนย้าย มีการเกิดขึ้นมาใหม่กันอยู่ สิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา ก็ย่อมสูญสิ้นไปทั้งนั้น …

ด้วยประการดังว่านี้ เมื่อสิ่งที่มีความสูญสิ้นไปเป็นธรรมดา มาสูญสิ้นไป อริยสาวกนั้นก็ไม่มัวโศกเศร้า คร่ำครวญ ร่ำไร ตีอก ร่ำไห้ ฟูมฟายอยู่ …
อริยสาวกนั้น ผู้ไม่มีความโศกศัลย์ ไม่มีลูกศรเสียบแทงใจ ทำตนให้หายทุกข์ร้อนสงบเย็นได้ …
ความโศกเศร้า การคร่ำครวญร่ำไห้ จะช่วยให้ได้ประโยชน์อะไรในโลกนี้ แม้แต่น้อย ก็หาไม่ บัณฑิตผู้รู้เข้าใจฉลาดในการวินิจฉัยเรื่องราว ย่อมไม่หวั่นไหวต่อเคราะห์ร้ายภัยพิบัติ … ประโยชน์ที่ดีงามพึงมุ่งหมาย จะสำเร็จได้ที่ไหน ด้วยวิธีการอย่างไร ก็พึงพากเพียรมุ่งหน้าทำไปที่นั่นด้วยวิธีการนั้นๆ
หากรู้ชัดว่าจุดหมายนั้น ไม่ว่าเราหรือคนอื่นใด ไม่มีใครจะให้สำเร็จได้ ก็ไม่ต้องเศร้าเสียใจ พึงวางจิตสงบตั้งใจแน่วลงไปว่า ทีนี้ เราจะทำการอะไรมุ่งมั่นต่อไป

 (องฺ.ปฺจก.22/48/60–63)

เพียรทำให้สำเร็จด้วยกรรมดี ไม่มัวรีรอขอผลดลบันดาล

“คนพาลมีกรรมดำ ถึงจะโลดแล่นไปยัง (แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ คือ) แม่น้ำพาหุกา ท่าน้ำอธิกักกะ ท่าน้ำคยา แม่น้ำสุนทริกา แม่น้ำสรัสวดี ท่าน้ำปยาคะ และแม่น้ำพาหุมดี เป็นนิตย์ ก็บริสุทธิ์ไม่ได้ …

ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบตนในหลักธรรมนี้เถิด จงสร้างความเกษมแก่สัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทำอทินนาทาน เป็นผู้มีศรัทธา หาความตระหนี่มิได้ไซร้ ท่านจะต้องไปท่าน้ำคยาทำไม แม้น้ำดื่มของท่านก็เป็นน้ำคยาแล้ว”

(ม.มู.12/98/70)

“ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ (ชำระบาป) กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน … ถ้าแม่น้ำเหล่านี้จะพาเอาบาปที่ท่านทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็ต้องพาเอาบุญของท่านไปได้ด้วย”

(ขุ.เถรี.26/466/473)

บูชายัญใหญ่ยิ่ง แต่ผู้มีความดียิ่งใหญ่ ไม่มาเฉียดใกล้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตระเตรียมการบูชามหายัญ โคผู้ 500 ตัว ลูกโคผู้ 500 ตัว ลูกโคเมีย 500 ตัว แพะ 500 ตัว และแกะ 500 ตัว ถูกนำไปผูกที่หลักเพื่อบูชายัญ แม้ประดาเหล่าชนที่เป็นทาส เป็นคนรับใช้ หรือกรรมกร ถูกขู่ด้วยอาชญา ถูกภัยคุกคาม มีหน้านองน้ำตา ร้องไห้พลาง ทำงานเตรียมการทั้งหลายไปพลาง …

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความนั้นแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า

พิธีอัศวเมธ (ฆ่าม้าบูชายัญ) ปุริสเมธ (ฆ่าคนบูชายัญ) สัมมาปาสะ (มหายัญบนแท่นบูชาตรงที่หล่นลงของไม้ลอดบ่วง) วาชเปยยะ (มหายัญดื่มฉลองฆ่าสัตว์ใหญ่ 17 อย่างละหลายร้อยตัว)  นิรัคคฬะ (ฆ่าครบทุกอย่างไม่มีขีดคั่นบูชาเป็นมหายัญ) เป็น

การบูชายัญอย่างยิ่งใหญ่ มีการจัดเตรียมการใหญ่โต จะได้มีผลมากมายก็หาไม่ มีแต่แพะ แกะ โค และสัตว์หลากหลายชนิด จะถูกฆ่า, ยัญนั้น ท่านผู้ดำเนินในปฏิปทาถูกทาง ผู้แสวงคุณความดียิ่งใหญ่ ย่อมไม่เฉียดใกล้

 (สํ.ส.15/349/109)

กูฏทันตพราหมณ์ กล่าวว่า

ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอปล่อยโคผู้ 700 ลูกโคผู้ 700 ลูกโคเมีย 700 แพะ 700 แกะ 700 ข้าพเจ้าให้ชีวิตแก่สัตว์เหล่านั้น สัตว์เหล่านั้นจงกินหญ้าเขียวสด จงดื่มน้ำเย็น จงรับลมสดชื่นที่พัดโชยมาให้สุขสบายเถิด

   (ที.สี.9/236/189)

พระพรหม ไตรเพท บูชายัญ วรรณะ ล้วนคือโมฆะที่แต่งสรร

(ขุ.ชา.28/761/258)

ชั้นวรรณะหมดไป คนยิ่งใหญ่โดยธรรมด้วยความดี 

บุคคลไม่เป็นคนถ่อยทรามเพราะชาติกำเนิด ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด แต่เป็นคนถ่อยทรามเพราะกรรม (สิ่งที่คิด-พูด-ทำ) เป็นพราหมณ์เพราะกรรม (สิ่งที่คิด-พูด-ทำ)

(ขุ.สุ.25/305/349)

กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล จนถึงคนขนขยะ ทุกคนสงบกิเลสแล้ว ฝึกตนแล้ว ก็เป็นผู้เย็นชื่นสนิทหมดทั้งนั้น เมื่อเป็นผู้เย็นทุกคนแล้ว ก็ไม่มีใครดีกว่า ไม่มีใครเลวกว่าใคร

(ขุ.ชา.27/1918/376)

แม่น้ำสินธู แม่น้ำสรัสวดี แม่น้ำจันทภาคา แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมุนา แม่น้ำสรภู และมหินที ทั้งหมดนี้เมื่อหลั่งไหลมา สาครย่อมรับไว้ด้วยกัน ชื่อเดิมนั้นก็สลัดหาย หมายรู้กันแต่ว่าเป็นทะเลใหญ่ 

เหล่าชน 4 วรรณะนี้ ก็เช่นกัน บรรพชาในสำนักของพระองค์ ก็ละชื่อเดิมหมดไป หมายรู้กันแต่ว่าเป็นพุทธบุตร (หมดทั้งนั้น)

(ขุ.อป.32/3/39)

ดูกรวาเสฏฐะฯ แท้จริงนั้น บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ ผู้ใด… ห่างไกลกิเลส … หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ผู้นั้นแลเรียกว่า เป็นผู้เลิศสุดเหนือกว่าวรรณะทั้งหมดนั้น 

ทั้งนี้ก็โดยธรรมนั่นเอง หาใช่โดยสิ่งอันมิใช่ธรรมไม่ ด้วยว่า ธรรมนี่แหละ ประเสริฐสูงสุดในหมู่มนุษย์ ทั้งบัดนี้ และเบื้องหน้า …

(ที.ปา.11/53/90)

ตบะไล่บาปไม่ไป ใช้สมาธิและปัญญาจึงหมดอวิชชาเป็นอิสระได้

(ที.ปา.11/23/42)

สมณพราหมณ์เหล่าใด มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ มีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ มีอาชีพบริสุทธิ์ สมณพราหมณ์เหล่านั้น จึงควรเพื่อญาณทัศนะ เพื่อความตรัสรู้สูงสุด … 

ดูกรสาฬหะ นักรบเป็นผู้ยิงได้ไกล แม้ฉันใด ฉันนั้นนั่นแล อริยสาวกก็เป็นผู้มีสัมมาสมาธิ, อริยสาวกผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมมองเห็นด้วยสัมมาปัญญาตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป… เวทนา… สัญญา… สังขาร… วิญญาณ… ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา 

ดูกรสาฬหะ นักรบเป็นผู้ยิงแม่นไว ฉันใด ฉันนั้นนั่นแล อริยสาวกก็เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิ, อริยสาวกผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ดูกรสาฬหะ นักรบเป็นผู้ทำลายเป้าหมายทั้งใหญ่ได้ ฉันใด ฉันนั้นนั่นแล อริยสาวกก็เป็นผู้มีสัมมาวิมุตติ, อริยสาวกผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมทำลายเสียได้ซึ่งกองอวิชชาอันใหญ่

(องฺ.จตุกฺก.21/196/271-5)

45 พรรษาแห่งพุทธกิจ

ในเวลา 45 ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งท่านได้ประมวลไว้ พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่างเป็นที่สังเกตดังนี้

พรรษาที่ 1 ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี (โปรดพระเบญจวัคคีย์)

พรรษาที่ 2-3-4 พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ (ระยะประดิษฐานพระศาสนา เริ่มแต่โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ได้อัครสาวก ฯลฯ เสด็จนครกบิลพัสดุ์ครั้งแรก ฯลฯ อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นอุบาสกถวายพระเชตวัน; ถ้าถือตามพระวินัยปิฎก พรรษาที่ 3 น่าจะประทับที่พระเชตวัน นครสาวัตถี)

พรรษาที่ 5 กูฏาคาร ในป่ามหาวัน นครเวสาลี (โปรดพระพุทธบิดาซึ่งปรินิพพานที่กรุงกบิลพัสดุ์ และโปรดพระญาติที่วิวาทเรื่องแม่น้ำโรหิณี พระมหาปชาบดีผนวช เกิดภิกษุณีสงฆ์)

พรรษาที่ 6 มกุลบรรพต (ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่นครสาวัตถี)

พรรษาที่ 7 ดาวดึงสเทวโลก (แสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา)

พรรษาที่ 8 เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ (พบนกุลบิดา และนกุลมารดา)

พรรษาที่ 9 โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี 

พรรษาที่ 10 ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี (ในคราวที่ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีทะเลาะกัน)

พรรษาที่ 11 เอกนาลา หมู่บ้านพราหมณ์

พรรษาที่ 12 เมืองเวรัญชา 

พรรษาที่ 13 จาลิยบรรพต

พรรษาที่ 14 พระเชตวัน (พระราหุลอุปสมบทวาระนี้)

พรรษาที่ 15 นิโครธาราม นครกบิลพัสดุ์

พรรษาที่ 16 เมืองอาฬวี (ทรมานอาฬวกยักษ์)

พรรษาที่ 17 พระเวฬุวัน นครราชคฤห์

พรรษาที่ 18-19 จาลิยบรรพต

พรรษาที่ 20 พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ (โปรดมหาโจรองคุลิมาล พระอานนท์ได้รับหน้าที่เป็นพระพุทธอุปัฏฐากประจำ)

พรรษาที่ 21-44  ประทับสลับไปมา ณ พระเชตวัน กับบุพพาราม พระนครสาวัตถี (รวมทั้งคราวก่อนนี้ด้วย อรรถกถาว่าพระพุทธเจ้าประทับที่เชตวนาราม 19 พรรษา ณ บุพพาราม 6 พรรษา)

พรรษาที่ 45 เวฬุวคาม ใกล้นครเวสาลี


พุทธกิจประจำวัน

นอกจากสถานที่ทรงจำพรรษาใน 45 ปีแห่งพุทธกิจแล้ว พระอรรถกถาจารย์ได้ประมวลพระพุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็นประจำในแต่ละวันไว้ด้วยว่ามี 5 อย่าง เรียกว่า พุทธกิจประจำวัน 5 ดังนี้

  1. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต
  2. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
  3. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ
  4. อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ เที่ยงคืนทรงตอบเทวปัญหา
  5. ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ จวนสว่าง ทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรม ว่าควรจะเสด็จไปโปรดผู้ใด

(สรุปท้ายว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐ ทรงยังกิจ 5 ประการนี้ให้หมดจด)


ต้นแบบสังคายนาและพุทธปัจฉิมวาจา

527 BC (ตัวเลขฝ่ายตะวันตก) มหาวีระ (นิครนถนาฏบุตร) ศาสดาแห่งศาสนาเชน/ไชนะ สิ้นชีพ สาวกทะเลาะวิวาทกันเป็นข้อปรารภที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้มีการสังคายนา และครั้งหนึ่งพระสารีบุตรได้แสดงสังคีติสูตรไว้เป็นตัวอย่าง

1 ปี ก.พศ. (=543 BC; ฝรั่งว่า 483 BC ) ในวันเพ็ญวิสาขปุรณมี หลังจากบำเพ็ญพุทธกิจ 45 พรรษา พระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ 80 พรรษา เสด็จปรินิพพาน ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา

พระพุทธปัจฉิมวาจา… “วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” (สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงทำกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท)

หลังพุทธกาล

สังคายนา ครั้งที่ 1 – พญามิลินท์

สังคายนา ครั้งที่ 1

3 เดือน หลังพุทธปรินิพพาน (9 เดือน ก.พศ.) มีการสังคายนาครั้งที่ 1 ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุ ผู้บวชเมื่อแก่ กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัย และเพื่อให้พระธรรมวินัยรุ่งเรืองอยู่สืบไป โดยที่ประชุมพระอรหันต์ 500 รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์วิสัชนาพระธรรม (ที่จัดแยกเป็นพระสูตรและพระอภิธรรม) ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ โดยพระเจ้าอชาตศัตรููทรงอุปถัมภ์ ใช้เวลา 7 เดือน


พ.ศ. 1-100

การนับพุทธศักราช 

โดยวิธีนับว่า “บัดนี้ พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน ล่วงแล้วได้ 1 ปี/พรรษา” จึงถือว่า 1 ปี หลังพุทธปรินิพพาน เริ่มต้นพุทธศักราชเป็น พ.ศ. 1 (นี้เป็นการนับแบบไทย ส่วนศรีลังกา และพม่า นับพุทธศักราชเริ่มแต่พุทธปรินิพพาน ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานครบ 1 ปีแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็น พ.ศ. 2)

สายอชาตศัตรูสิ้นวงศ์ สู่ปาฏลีบุตร 

พ.ศ. 1-20 (543-523 BC; ตามฝรั่ง=483-463 BC) หลังพุทธปรินิพพานในปีที่ 8 ของรัชกาลแล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูครองราชย์ต่อมาอีก 24 ปี จึงถูกโอรสคือเจ้าชายอุทัยภัทรทำปิตุฆาต ระหว่างนั้นแคว้นโกศล และแคว้นวัชชีได้สูญอำนาจ ตกเป็นของมคธแล้ว มคธจึงครองความเป็นใหญ่ในชมพูทวีป เมื่ออุทัยภัทร
ขึ้นครองราชย์แล้ว ต่อมา ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังปาฏลีบุตร (เมืองหน้าด่านที่พระเจ้าอชาตศัตรูได้ให้สุนีธะและวัสสการะสร้างขึ้นตอนปลายพุทธกาล) เป็นครั้งแรก

พ.ศ. 72 (471 BC; ตามฝรั่ง=411 BC) หลังจากกษัตริย์ทำปิตุฆาตต่อกันมา 5 รัชกาล ราษฎรได้พร้อมใจกันปลงชีพกษัตริย์พระนามว่านาคทาสก์ แล้วสถาปนาอำมาตย์ชื่อสุสุนาคขึ้นเป็นกษัตริย์ ตั้งราชวงศ์ใหม่ ย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เวสาลีโอรสของพระเจ้าสุสุนาค พระนามว่ากาลาโศก เมื่อครองราชย์ในปีที่ 10 ตรงกับ พ.ศ. 100 ได้ทรงอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ 2 และในรัชกาลนี้ ได้ย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่ปาฏลีบุตรเป็นการถาวร 


สังคายนา ครั้งที่ 2

พ.ศ. 100 (443 BC; ตามฝรั่ง=381 BC) มีสังคายนา ครั้งที่ 2 ปรารภเรื่องภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ 10 ประการ นอกธรรมวินัย พระยศกากัณฑบุตรเป็นผู้ชักชวนพระอรหันต์ 700 รูป ประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา โดยพระเจ้ากาลาโศกราชทรงอุปถัมภ์ ใช้เวลา 8 เดือน


พ.ศ. 101 – 200

เกิดนิกายในพระพุทธศาสนา 

อย่างไรก็ดี ภิกษุวัชชีบุตรได้แยกตัวออกจากเถรวาท กลายเป็นพวกหนึ่งต่างหาก เรียกชื่อว่า “มหาสังฆิกะ” (พวกสงฆ์หมู่ใหญ่) และทำสังคายนาต่างหากเรียกว่ามหาสังคีติ เป็นอาจริยวาทกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มให้เกิดนิกายขึ้น และเป็นต้นกำเนิดของอาจารยวาท/อาจริยวาท ที่ต่อมาเรียกตนเองว่า “มหายาน”

ทั้งนี้ มหาสังฆิกะนั้นได้แตกย่อยออกไป จนกลายเป็นอาจริยวาท 6 นิกาย ทางด้านเถรวาทเดิม ก็ได้มีอาจริยวาทแยกออกไป 2 พวก แล้ว 2 พวกนั้นก็แตกย่อยออกไปๆ จนกลายเป็น 11 อาจริยวาท จนกระทั่งในช่วง 100 ปี กว่าจะถึง พ.ศ. 200 พระพุทธศาสนาก็ได้มีนิกายย่อยทั้งหมด 18 เรียกว่า 18 อาจริยวาทบ้าง 18 อาจริยกุลบ้าง 18 นิกายบ้าง (คือ เถรวาทดั้งเดิม 1 กับ อาจริยวาทอื่นๆ 17) เป็นปัญหาที่รอการชำระสะสางแล้วทำสังคายนา ครั้งที่ 3 (คำว่า “หีนยาน” ก็ดี “มหายาน” ก็ดี ไม่มีในคัมภีร์บาลี นอกจากที่เขียนในสมัยปัจจุบัน)

ราชวงศ์นันทะ ครองมคธ 

พ.ศ. 140 (=403 BC; ตามฝรั่ง= c. 343 BC) มหาปัทมนันทะสังหารกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุสุนาคแล้ว ขึ้นครองราชย์ ตั้งราชวงศ์นันทะ ซึ่งครองมคธสืบต่อกันมาถึงองค์สุดท้ายคือธนนันทะ รวมทั้งสิ้น 9 รัชกาล จบสิ้นใน พ.ศ. 162 (=381 BC; ตามฝรั่ง =321 BC) รวม 22 ปี

เรื่องข้างเคียงในอินเดีย (มหากาพย์ มหาภารตะ) 

400 BC (ในช่วงเวลาแต่นี้ ถึงราว ค.ศ. 400 คือช่วง พ.ศ. 150-950 ซึ่งไม่อาจชี้ชัด) ฤๅษีวยาสได้แต่งมหากาพย์สันสกฤตเรื่องมหาภารตะ อันเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก (คงเริ่มเรื่องเดิมที่เป็นแกนแล้วแต่งเพิ่มกันต่อมา) ว่าด้วยสงครามใหญ่เมื่อราว 1,000-400 ปีก่อนพุทธกาล อันเกิดขึ้นในวงศ์กษัตริย์ ระหว่างโอรสของเจ้าพี่เจ้าน้อง คือ เหล่าโอรสของ ธฤตราษฏร์ (เรียกว่า เการพ) กับเหล่าโอรสของ ปาณฑุ (เรียกว่า ปาณฑพ) ซึ่งรบกันที่ทุ่งกุรุเกษตร (เหนือเดลีปัจจุบัน) จนฝ่ายเการพสิ้นชีพทั้งหมด ยุธิษฐิระพี่ใหญ่ฝ่ายปาณฑพขึ้นครองราชย์ที่หัสตินาปุระ และมีเรื่องต่อไปจนเสด็จสู่สวรรค์

ภควัทคีตา ซึ่งเป็นคัมภีร์ปรัชญาสำคัญยวดยิ่งของฮินดู ก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ในเรื่องนี้ โดยเป็นบทสนทนาระหว่าง กฤษณะ กับเจ้าชายอรชุน

อเลกซานเดอร์กลับไป จันทรคุปต์ขึ้นมา 

พ.ศ. 151-8 (ตามฝรั่งนับ=332-325 BC) พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชเดินทัพผ่านหรือมีชัยในที่ใดอันสำคัญ มักสร้างเมืองขึ้นใหม่และตั้งชื่อเมืองเฉลิมพระเกียรติว่า “Alexandria” ดังเช่นเมืองชื่อนี้ที่สำคัญซึ่งยังคงอยู่ที่อียิปต์เป็นต้น แม้ทางชมพูทวีป ก็มีอเลกซานเดรียหลายแห่ง เช่นเมืองที่บัดนี้เรียก Herat (=Alexandria of the Arians), Kandahar และแห่งหนึ่งในที่ไม่ไกลจากเมือง Kabul ในอัฟกานิสถาน

ในพระไตรปิฎก มี 2-3 แห่ง กล่าวถึงเมืองชื่อ “อลสันทะ” ซึ่งสันนิษฐานกันว่าได้แก่ อเลกซานเดรียนี้ และคัมภีร์ในพระไตรปิฎกเล่มใดมีชื่อเมืองนี้ก็กล่าวได้ว่าเพิ่งยุติในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 ในคัมภีร์มิลินทปัญหา พญามิลินท์ (Menander) ตรัสว่าพระองค์ประสูติที่เมืองอลสันทะ

หลังจากอเลกซานเดอร์เลิกล้มความคิดที่จะตีมคธและยกทัพกลับออกไปจากชมพูทวีปในปี 325 BC แล้วไม่นาน จันทรคุปต์ก็ตีมคธได้สำเร็จ

กรีก รบ-สงบ-ส่งทูต สู่ปาฏลีบุตร

พ.ศ. 162 (=381 BC; แต่ฝรั่งนับ=321 BC) จันทรคุปต์ปราบกษัตริย์นันทะได้ ขึ้นครองมคธ ตั้งราชวงศ์ใหม่คือโมริยะ จากนั้นอีก 16 ปี ยกทัพมารบชนะกษัตริย์กรีก คือซีลูคัส ที่ 1 (Seleucus I) ซึ่งยอมยกดินแดนคันธาระแถบ Kandahar ให้ โดยขอแลกได้ช้างไป 500 เชือก ต่อนั้นอีก 3 ปี (ตามฝรั่ง=302 BC) เมคาสธีนีส (Megasthenes) ชาวไอโอเนียนกรีก (โยนก) ได้เป็นทูตของพระเจ้าซีลูคัสที่ 1 ไปอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร (กรีกเรียก Palimbothra, ปัจจุบันเรียก Patna/ปัฏนา) และได้เขียนบันทึก 4 เล่ม ชื่อ Indica เล่าถึงความเจริญรุ่งเรืองแห่งแคว้นมคธของพระเจ้าจันทรคุปต์ (กรีกเรียก Sandrocottus) และความอุดมสมบูรณ์ของชมพูทวีปไว้ (ฝรั่งว่า Megasthenes เป็นนักประวัติศาสตร์ และว่าคงเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้เห็นแม่น้ำคงคา)

พ.ศ. 186 (=357 BC; แต่ฝรั่งนับ=297 BC) สิ้นรัชกาลพระเจ้าจันทรคุปต์ โอรสคือพระเจ้าพินทุสารครองราชย์ต่อมาอีก 28 ปี


พ.ศ. 201 – 300

เข้าสู่ยุคอโศกมหาราช 

พ.ศ. 214 (=329 BC; แต่ฝรั่งนับ=268 BC) สิ้นรัชกาลพระเจ้าพินทุสาร เจ้าชายอโศก ซึ่งเป็นอุปราชอยู่ที่กรุงอุชเชนี ในแคว้นอวันตี ดำเนินการยึดอำนาจโดยกำจัดพี่น้อง ครองอำนาจโดยยังไม่ได้อภิเษกอยู่ 4 ปี

อโศกมหาราช จักรพรรดิธรรมราชา 

พ.ศ. 218 (=325 BC; แต่ฝรั่งนับ=265 BC) พระเจ้าอโศกมหาราชราชาภิเษกแล้ว แผ่ขยายอาณาจักรออกไป จนได้แม้แต่แคว้นกลิงคะที่เข้มแข็งยิ่งยง กลายเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และมีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย

เรื่องข้างเคียงในอินเดีย (รามเกียรติ์: พระราม-นางสีดา)  

300 BC (ไม่ก่อนนี้; ราว พ.ศ. 250) ฤาษีวาลมีกิ แต่งมหากาพย์สันสกฤตเรื่อง รามายณะ (รามเกียรติ์) ว่าด้วยเรื่องพระราม-นางสีดา แห่งอโยธยา (ในพุทธกาล=เมืองสาเกต) 

ในพระพุทธศาสนา คัมภีร์ชั้นอรรถกถาและฎีกา กล่าวถึงเรื่องมหาภารตะ และรามายณะบ่อยๆ โดยยกเป็นตัวอย่างของเรื่องเพ้อเจ้อไร้ประโยชน์ (นิรัตถกถา) จัดเป็นสัมผัปปลาปะบ้าง ติรัจฉานกถาบ้าง เว้นแต่ยกเป็นข้อพิจารณาทางธรรม (ในอรรถกถา มักเรียกว่า ภารตยุทธ และสีตาหรณะ มีบางแห่งเรียกว่า ภารตะ และรามายณะ ในฎีกาเรียกว่า ภารตปุราณะ และรามปุราณะ บ้างก็มี)


พุทธศาสนารุ่งเรือง

ยุคที่ 1

นโยบาย “ธรรมวิชัย” 

เมื่อตีแคว้นกลิงคะได้ในปีที่ 8 แห่งรัชกาล (=พ.ศ. 222=321 BC แต่ฝรั่งนับ=261 BC) พระเจ้าอโศกทรงสลดพระทัยต่อความทุกข์ยากของประชาชน และได้หันมานับถือวิถีแห่งสันติและเมตตาของพระพุทธศาสนา

พระเจ้าอโศกมหาราชประกาศละเลิกสังคามวิชัย หันมาดำเนินนโยบาย ธรรมวิชัย เน้นการสร้างสิ่งสาธารณูปโภค บำรุงความสุขและศีลธรรมของประชาชน อุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์ สร้างวิหาร (วัด) 84,000 แห่ง เป็นศูนย์กลางศึกษา และทำศิลาจารึกสื่อสารเสริมธรรมแก่ประชาชน ประกาศหลักการแห่งเสรีภาพแบบสมัครสมานทางศาสนา ตลอดจนอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่ 3 และส่งพระศาสนทูต 9 สายไปประกาศพระศาสนาในแดนห่างไกล

จากศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ทำให้รู้ว่า แคว้นโยนะ และกัมโพชะ อยู่ในพระราชอาณาเขต อาณาจักรปาณฑยะ และโจฬะในแดนทมิฬ เป็นถิ่นข้างเคียง ศิลาจารึกยังได้กล่าวถึงกษัตริย์ที่ติดต่อในดินแดนตะวันตกอันห่างไกลมาก รวมทั้ง Ptolemy II แห่งอียิปต์
Alexander แห่งเอปิรุส หรือ โครินธ์ Antiochus II แห่งซีเรีย Antigonus II แห่ง(กรีก)มาซิโดเนีย

จารึกอโศก

พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้ทำศิลาจารึก เริ่มแต่เมื่ออภิเษกได้ 12 พรรษา (เรานับ=พ.ศ. 226)

ในบรรดาศิลาจารึกมากมายที่ได้โปรดให้ทำไว้ตามนโยบายธรรมวิชัย นั้น ศิลาจารึกฉบับที่ค้นพบมากที่สุดถึง 12 แห่งคือจารึกฉบับเหนือ ที่ว่าด้วยการทรงเป็นอุบาสกและเข้าสู่สงฆ์ ซึ่งมีความเริ่มต้นว่า “พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้ตรัสไว้ดังนี้:- นับเป็นเวลานานกว่า 2 ปีครึ่งแล้วที่ข้าฯ ได้เป็นอุบาสก แต่กระนั้น ข้าฯ ก็มิได้กระทำความพากเพียรจริงจังเลย และนับเป็นเวลาได้อีก 1 ปีเศษแล้วที่ข้าฯ ได้เข้าสู่สงฆ์ แล้วจึงได้กระทำความพากเพียรอย่างจริงจัง” 

ในศิลาจารึกแห่งไพรัต พระเจ้าอโศกฯ ได้ตรัสปราศัยกับพระภิกษุสงฆ์ว่า

“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายย่อมทราบว่า โยมมีความเคารพและเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มากเพียงใด… สิ่งใดก็ตามที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว สิ่งนั้นๆ ทั้งปวงล้วนเป็นสุภาษิต”

ธรรมที่พระเจ้าอโศกฯ ทรงนำมาสอนประชาชนไว้ในศิลาจารึกทั้งหลาย (ซึ่งพวกนักปราชญ์มักเรียกว่า “อโศกธรรม”) ได้แก่คำสอนสำหรับชาวบ้านทั่วไป ซึ่งเน้นการไม่เบียดเบียน การช่วยเหลือกัน และการปฏิบัติธรรมคือหน้าที่ตามหลักทิศ 6 มีแต่เรื่อง บุญ-ทาน-การไปสวรรค์ (คือธรรมะอย่างที่ชาวพุทธเมืองไทยรู้จัก แต่ทรงย้ำธรรมทาน) ไม่เอ่ยชื่อหลักธรรมลึกๆ อย่างอริยสัจ 4 ขันธ์ 5 ปฏิจจสมุปบาท นิพพาน คือทรงสอนธรรมตามจริยาวัตรของพระจักรพรรดิธรรมราชา มิได้ทรงสอนธรรมที่เป็นเทศนากิจของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ กับทั้งเห็นได้ชัดว่าทรงมุ่งยกประชาชนให้พ้นจากลัทธิบูชายัญและระบบวรรณะของพราหมณ์

หลักการไม่เบียดเบียน คือ อหิงสา หรือ อวิหิงสา ตามพุทธโอวาท ซึ่งเป็นจุดเน้นของนโยบายธรรมวิชัย ได้แสดงออกเด่นชัดทั่วไปในศิลาจารึก รวมทั้งหลักการแห่งความสามัคคีระหว่างศาสนิกต่างศาสนา (สมวายะ) ซึ่งนำหน้าและควรเป็นแบบอย่างของหลักการแห่งเสรีภาพทางศาสนา และขันติธรรม (freedom of religion และ tolerance) ที่แม้แต่มนุษย์ในยุคที่ถือว่าพัฒนาสูงยิ่งแล้วในปัจจุบัน ก็ยังปฏิบัติไม่ได้จริง หรือไม่ก็ถือไปตามความเข้าใจผิดพลาด (เช่น แทนที่จะประสานคน กลับไปปะปนหลักธรรม) 

ในศิลาจารึก ฉบับที่ 12 มีพระดำรัสว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ย่อมทรงยกย่องนับถือศาสนิกชนแห่งลัทธิศาสนาทั้งปวง ทั้งที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ ด้วยพระราชทาน และการแสดงความยกย่องนับถืออย่างอื่นๆ แต่พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ไม่ทรงพิจารณาเห็นทานหรือการบูชาอันใด ที่จะเทียบได้กับสิ่งนี้เลย สิ่งนี้คืออะไร? นั้นก็คือการที่จะพึงมีความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมในลัทธิศาสนาทั้งปวง ก็ความเจริญงอกงามแห่งสารธรรมนี้ มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ส่วนที่เป็นรากฐานแห่งความเจริญงอกงามนั้นได้แก่สิ่งนี้คือ การสำรวมระวังวาจา ระวังอย่างไร? คือ ไม่พึงมีการยกย่องลัทธิศาสนาของตน และการตำหนิลัทธิศาสนาของผู้อื่น เมื่อไม่มีเหตุอันควร… การสังสรรค์สมาคมกันนั่นแลเป็นสิ่งดีงามแท้ จะทำอย่างไร? คือ จะต้องรับฟังและยินดีรับฟังธรรมของกันและกัน 

จริงดังนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพทรงมีความปรารถนาว่า เหล่าศาสนิกชนในลัทธิศาสนาทั้งปวง พึงเป็นผู้มีความรอบรู้ และเป็นผู้ยึดมั่นในกรรมดี… จะบังเกิดผลให้มีทั้งความเจริญงอกงามแห่งลัทธิศาสนาของตนๆ และความรุ่งเรืองแห่งธรรม” 

พระเจ้าอโศกฯ ได้เสด็จไปนมัสการสังเวชนียสถาน ดังความในจารึก ฉบับที่ 8 ว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 10 พรรษา (=พ.ศ. 228) ได้เสด็จไปสู่สัมโพธิ (พุทธคยา-สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) จากเหตุการณ์ครั้งนั้น จึงเกิดมีธรรมยาตรานี้ขึ้น ในธรรมยาตรานั้น ย่อมมีกิจต่อไปนี้ คือ การเยี่ยมเยียนสมณพราหมณ์และถวายทานแด่ท่านเหล่านั้น การเยี่ยมเยียนท่านผู้เฒ่าผู้สูงอายุ และการพระราชทานเงินทองเพื่อ(ช่วยเหลือ)ท่านเหล่านั้น การเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท การสั่งสอนธรรม และการซักถามปัญหาธรรมแก่กัน..

สารนาถ (อิสิปตนมฤคทายวัน) สถานที่แสดงปฐมเทศนา พระเจ้าอโศกฯ ก็ทรงประดิษฐานหลักศิลาใหญ่ไว้ ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุด เพราะรูปเศียรสิงห์ทั้งสี่ บนยอดเสาศิลาจารึกนั้น ได้มาเป็นตราแผ่นดินของประเทศอินเดียในบัดนี้ และรูปพระธรรมจักรที่เทินอยู่บนหัวสิงห์ทั้งสี่นั้น ก็มาเป็นสัญลักษณ์อยู่กลางธงชาติอินเดียในปัจจุบัน

โดยเฉพาะในจารึกหลักศิลาที่ลุมพินี ที่พระพุทธเจ้าประสูติ จะเห็นชัดว่า พระเจ้าอโศกฯ ทรงมีพระราชศรัทธามากเพียงใด ดังคำจารึกว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ เมื่ออภิเษกแล้วได้ 20 พรรษา (=พ.ศ. 238)
ได้เสด็จมาด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงกระทำการบูชา (ณ สถานที่นี้) เพราะว่า พระพุทธศากยมุนีได้ประสูติแล้ว ณ ที่นี้ (พระองค์) ได้โปรดให้สร้างรั้วศิลา และโปรดให้ประดิษฐานหลักศิลาขึ้นไว้

“โดยเหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้ จึงโปรดให้หมู่บ้านถิ่นลุมพินีเป็นเขตปลอดภาษี และให้เสียสละ (ผลิตผลจากแผ่นดินเป็นทรัพย์แผ่นดิน เพียง 1 ใน 8 ส่วน)”

 หลักศิลาของพระเจ้าอโศกฯ นี้ เท่ากับบอกว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นเอกบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานการอุบัติบ่งชัดที่สุด ซึ่งระบุบอกไว้ด้วยความเคารพรัก โดยบุคคลสำคัญยิ่งแห่งประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง และเป็นหลักฐานที่เกิดมีภายในกาลเวลาใกล้ชิดเพียงไม่กี่ชั่วอายุคน ซึ่งความทรงจำและการกล่าวขานพร้อมทั้งกิจการที่เกี่ยวเนื่องในสังคมยังไม่เลือนหายไป


สังคายนาครั้งที่ 3 และส่งศาสนทูต 

พ.ศ. 235 มีสังคายนา ครั้งที่ 3 ปรารภการที่มีเดียรถีย์มากมายปลอมบวชเข้ามา เนื่องจากเกิดลาภสักการะในหมู่สงฆ์อุดมสมบูรณ์ พระอรหันต์ 1,000 รูป มีพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์ ใช้เวลา 9 เดือน

หลังสังคายนาแล้ว มีการจัดส่งพระศาสนทูต 9 สาย ไปประกาศพระศาสนา (แต่ละแห่งมีพระภิกษุร่วมคณะพอครบสงฆ์ที่จะให้อุปสมบท) คือ 

  1. พระมัชฌันติกะ ไป กัสมีร-คันธารรัฐ
  2. พระมหาเทวะ ไป มหิงสกมณฑล
  3. พระรักขิตะ ไป วนวาสี(รัฐ)
  4. พระโยนกธรรมรักขิต ไป อปรันตกะ(รัฐ)
  5. พระมหาธรรมรักขิต ไป มหารัฐ
  6. พระมหารักขิต ไป โยนกรัฐ
  7. พระมัชฌิมะ ไป เทศภาคแห่งหิมวันต์ 
  8. พระโสณะและอุตตระ ไป สุวรรณภูมิ
  9. พระมหินทะ ไป ตัมพปัณณิทวีป (ลังกา)

9 สาย มีไทยและจีน ด้วย? 

(สารัตถทีปนี ว่า มหิงสกมณฑล=อันธกรัฐ; สาสนวงส์ ว่าเทศภาคแห่งหิมวันต์=จีนรัฐ คือประเทศจีน; สุวรรณภูมิ=สุธรรมนคร คือเมืองสะเทิมในพม่า บางมติว่า=หริภุญชรัฐ บางมติว่า=สิยามรัฐ; อปรันตรัฐ คง=สุนา-ปรันตรัฐ; มหารัฐ บางมติว่า=สิยามรัฐ) 

ราชาแห่งลังกาทวีปครั้งนั้น คือพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ (พึงสังเกตว่าใช้คำนำพระนามอย่างเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ปรากฏในศิลาจารึกว่า “เทวานัมปิย-ปิยทัสสี” และตำนานว่ามีเชื้อสายศากยะทั้งสองพระองค์)

มหาสถูปสาญจี อยู่ในสภาพดีที่สุด 

แม้ว่าต่อมาราชวงศ์โมริยะจะสิ้นไปในปี 185 BC (พ.ศ. 298) และแม้ว่าถาวรวัตถุมากมายที่พระเจ้าอโศกฯ สร้างไว้จะถูกทำลายและพังพินาศไปแล้วตามกาลเวลาแทบทั้งหมด แต่มีปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งซึ่งได้ขุดขึ้นมาให้เห็นในปัจจุบันและนับว่าเป็นพุทธสถานที่รักษาไว้ได้ดีที่สุดในอินเดีย คือ สาญจี โดยเฉพาะมหาสถูปที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งค้นพบเมื่อปี 2361

มหาสถูปสาญจีนั้น จุดสังเกตปัจจุบัน คืออยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองโภปาล (Bhopal) ห่าง 32 กม. พระเจ้าอโศกฯ ทรงสร้างไว้ใกล้เมืองวิทิศา (Vidisha/Bhilsa) ห่างไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 23 กม. (ถ้าวัดจากอุชเชนี ก็มาทางตะวันออก 187 กม.)

มหาสถูปสาญจี กับวิทิสาเทวี 

ความสำคัญของวิทิศา คือ เมื่อก่อนครองราชย์ พระเจ้าอโศกฯ ได้มาเป็นอุปราชครองตักสิลา และต่อมาครองแคว้นอวันตี ที่เมืองอุชเชนี (ปัจจุบัน=Ujjain) ครั้งนั้นได้อภิเษกกับพระชายาองค์แรก ซึ่งเป็นธิดาของพ่อค้าชาวศากยะ ที่เมืองวิทิศานี้ คือพระวิทิสาเทวี ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าชายมหินท์ และเจ้าหญิงสังฆมิตตา ผู้ได้อุปสมบทและไปประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปในกาลต่อมา

พุทธสถานโดยเฉพาะมหาสถูปสาญจีนี้ คงเป็นตัวอย่างที่ช่วยให้คนปัจจุบันมีจินตนาการมองเห็นภาพวัดวาอารามทั้งหลาย ที่พระเจ้าอโศกได้ทรงสร้างไว้ ซึ่งสูญสิ้นไปแล้วหลังยุคโมริยะ ราชวงศ์สาตวาหนะ ที่รุ่งเรืองในยุคต่อมา ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาที่สาญจีนี้ด้วย

กษัตริย์พราหมณ์กำจัดพุทธศาสนา

185 BC (ว่าตามฝรั่ง แต่เรานับ=245 BC =พ.ศ. 298) หลังจากพระเจ้าอโศกครองราชย์ 37 ปี (บางทีคำนวณได้ 41 ปี) และโอรส-ปนัดดาครองต่อมาอีก 47 ปี ถึง พ.ศ.298 พราหมณ์ปุษยมิตร ซึ่งเป็นอำมาตย์ ได้ปลงพระชนม์กษัตริย์พฤหัทรถ ล้มราชวงศ์โมริยะ ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ เริ่มราชวงศ์ศุงคะ แล้วล้มเลิกเสรีภาพทางศาสนา รื้อฟื้นพิธีอัศวเมธ (ฆ่าม้าบูชายัญ) ตามหลักศาสนาพราหมณ์ขึ้นมาประกอบอย่างใหญ่ยิ่งถึง 2 ครั้ง และกำจัดพุทธศาสนาอย่างรุนแรง เช่นฆ่าพระ เผาวัด และถึงกับประกาศให้ค่าหัวชาวพุทธ

อย่างไรก็ตาม ศุงคะครองอำนาจได้ไม่กว้างขวาง เพราะตอนนี้ได้มีอาณาจักรต่างๆ แตกแยกออกไปแล้ว แม้แต่ม้าอุปการแห่งพิธีอัศวเมธ ที่ปุษยมิตรปล่อยไปรานเขา ก็ถูกทัพกรีกแห่งโยนกสกัดอยู่ และต่อมาศุงคะก็กลายเป็นฝ่ายตั้งรับทัพของโยนก ศุงคะครองถึงเพียงแม่น้ำนัมมทา และอยู่ได้ 112 ปีก็สิ้นวงศ์ เพราะกษัตริย์องค์สุดท้ายถูกพวกพราหมณ์นั่นเอง สมคบกันปลงพระชนม์ แล้วพราหมณ์ปุโรหิตขึ้นครองราชย์ ตั้งวงศ์ใหม่ชื่อ กาณวายนะใน พ.ศ. 410 (73 BC)


พ.ศ. 301 – 400

พญามิลินท์ปิ่นโยนก ยอยกพุทธศาสนา 

160-135 BC (ตามฝรั่งว่า=พ.ศ. 323-348; เรานับ=พ.ศ. 383-408 แต่คัมภีร์ว่า พ.ศ. 500=43 BC) พญามิลินท์ หรือ Menander กษัตริย์บากเตรีย หรือโยนก ซึ่งฝรั่งว่าเป็น Indo-Greek king ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ครองดินแดนไพศาลตั้งแต่โยนก และคันธาระ (= อัฟกานิสถานตอนเหนือ ผ่านปากีสถาน) ลงมาถึงอินเดียพายัพ ครองราชย์ที่สาคลนคร (Sialkot) ทรงเป็นพุทธมามกะ พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนแถบนี้ทั้งหมด

พ.ศ. 500 (= 43 BC; แต่ฝรั่งว่า=160-135 BC =พ.ศ. 323-348=เรานับ พ.ศ. 383) ตามเรื่องมิลินทปัญหา ว่าพระนาคเสนตอบคำถามของพญามิลินท์ เป็นเหตุให้ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา

ในยุคนี้เริ่มเกิดมีพระพุทธรูปศิลปะคันธาระ แบบกรีก อันถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธรูปที่สืบมาจนปัจจุบัน (บางมติว่าเริ่มในยุคราชวงศ์กุษาณ) แต่อาณาจักรกรีกโยนกทั้งหมดอยู่มาอีกไม่นาน ก็สิ้นอำนาจใน 128 BC (ฝรั่งว่า=พ.ศ. 355 เรานับ=พ.ศ. 415) รวมเข้าในอาณาจักรกุษาณ ที่จะรุ่งเรืองต่อมา จนสิ้นวงศ์ในพ.ศ. 763

เรื่องข้างเคียงในอินเดีย (ลัทธิไศวะ-ลัทธิโยคะ) 

150 BC (ประมาณ พ.ศ. 400) ลัทธิไศวะ ที่นับถือพระศิวะเจริญเด่นขึ้นมาเป็นนิกายสำคัญของฮินดู ในช่วงเวลาใกล้กันนี้ ปตัญชลิได้แต่งโยคสูตร ซึ่งทำให้ลัทธิโยคะของฮินดูมีอิทธิพลมากขึ้น (ช่วงเวลาไม่แน่นอน อาจแต่งในคริสต์ศตวรรษที่ 5 คือราว พ.ศ. 1000 ก็ได้)

ทมิฬก์ถิ่นอินเดียใต้

สามอาณาจักรทมิฬ 

พ.ศ. 455 (ไทยนับ=88 BC; ฝรั่งนับ=28 BC หลักฐานบางแห่งว่า พ.ศ. 436 บ้าง 450 บ้าง) ในลังกาทวีป มีสังคายนาครั้งที่ 5

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับชาวทมิฬจากอินเดียอันควรทราบ

เชื่อมความย้อนภูมิหลังว่า ในชมพูทวีปตอนล่าง ต่อจากดินแดนของชนชาวอันธระ (แคว้นกลิงคะอันเป็นดินแดนสุดท้ายที่พระเจ้าอโศกพิชิตนั้น เทียบบัดนี้ได้แก่รัฐโอริสสา และอันธรประเทศนี้) คือพ้นเขตจักรวรรดิอโศกลงไป จนตลอดถึงปลายแหลมสุดประเทศอินเดียเป็น “ทมิฬกะ” คือดินแดนของชนชาวทมิฬ 3 อาณาจักร คือ

ปาณฑยะ (Pandya อยู่ใต้สุด)

โจละ (Cola หรือ Chola อยู่เหนือขึ้นมาจนต่อกับอันธระ)

เจระ หรือ เกราละ (Cera, Chera หรือ Kerala เป็นดินแดนผืนแคบๆ ทอดจากเหนือลงสุดใต้ตามชายทะเลฝั่งตะวันตกเคียงไปกับ 2 อาณาจักรแรก พวกเจระนี้ไม่พูดภาษาทมิฬอย่าง 2 พวกแรก แต่พูดภาษามลายลัม บางตำราไม่จัดพวกเจระเป็นทมิฬ แต่ทั้งชาวทมิฬและพวกเจระ ก็ล้วนเป็นทราวิทเช่นเดียวกับชาวอันธระที่อยู่เหนือขึ้นไป)

แดนทมิฬในยุคอโศก 

อาณาจักรเหล่านี้มีมาแต่โบราณ อย่างน้อยตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกฯ (พ.ศ. 218-245) ดังความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกฯ โองการที่ 2 และที่ 13 ว่าเป็นดินแดนข้างเคียงเลยออกไปทางใต้ (พระเจ้าอโศกฯ รบชนะแคว้นกลิงคะแล้วหยุดแค่นั้น อาณาจักรเหล่านี้จึงยังเป็นอิสระอยู่; เจระ กล่าวถึงเฉพาะในโองการที่ 2 เรียกว่าเกรลปุตระ)

ทมิฬ กับพุทธศาสนา 

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวครั้งโบราณของอาณาจักรเหล่านี้เหลือมาให้ทราบกันน้อยยิ่ง รู้มาบ้างจากวรรณคดีเก่าๆ และจารึกภาษาทมิฬพราหมี จารึกเหล่านี้ (ระหว่างศตวรรษที่ 2 ก่อนค.ศ. ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 คือราว พ.ศ. 250-950) ส่วนมากจดบอกทานบริจาค ที่ราชา เจ้านาย พ่อค้า และช่างฝีมือทั้งหลายได้ถวายแก่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และแก่นักบวชเชน อันแสดงว่าพระพุทธศาสนา และศาสนาเชนได้มาเจริญแถบนี้ ซึ่งคงเนื่องด้วยการติดต่อกับจักรวรรดิอโศกด้วย

ทมิฬ กับกรีก-โรมัน-สิงหฬ 

ชาวโจละ/โจฬะ เป็นต้น เหล่านี้ เป็นนักเดินเรือแต่โบราณ มีการค้าขายกับพวกกรีก (เรียกว่า ยวน ยวนก หรือโยนก คือ Ionian) โรมัน และชาวอาหรับตลอดถึงจีน สืบมานานตั้งแต่ก่อน ค.ศ. (ก่อนมีศาสนาคริสต์และอิสลาม) ในเอกสารของพวกกรีกที่มาค้าขายแถบมัทราส (Madras ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Chennai) ชื่อ The Periplus of the Erythraean Sea (ค.ศ. 90) เรียกชาวโจฬะว่า “men of the sea” เมืองท่าใหญ่เช่น “กาวิรปัฏฏนะ” ที่ปากแม่น้ำกาเวรีก็เป็นที่รู้จักกันดีแก่พวกโรมัน

จากความเป็นนักเดินเรือนี้ ชาวทมิฬจำนวนมากจึงได้ไปตั้งถิ่นฐานในเกาะสิงหฬ ตลอดจนเข้ายึดครองแผ่นดินจากเจ้าถิ่นชาวสิงหฬในลังกาทวีป

หลังพุทธกาล

ยุคกุษาณ – สิ้นยุคคุปตะ

อินเดียใต้: แดนทักษิณาบถ

ในตอนที่ผ่านมา โดยมากได้พูดถึงพระพุทธศาสนาในส่วนเหนือของชมพูทวีป ตั้งแต่ภาคตะวันออกแถวเบงกอล ขึ้นไปถึงตะวันตกเฉียงเหนือตอนบน จดแคว้นโยนก ต่อกับอาเซียกลาง คราวนี้หันมาดูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปตอนล่างแทรกเข้ามาเล็กน้อย

อินเดียนั้นแบ่งได้เป็น 2 ภาคใหญ่ คือ ภาคเหนือ ซึ่งนิยมเรียกรวมๆ ว่า ฮินดูสถาน/Hindustan อันประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ และที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา กับภาคใต้ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า Deccan อันเป็นดินแดนที่ราบสูงในส่วนล่างของชมพูทวีป ตั้งแต่ใต้แม่น้ำนรรมทา/นัมมทา (Narmada) ลงไป ที่เรียกกันมาแต่โบราณว่า “ทักษิณาบถ” (=“หนใต้” เขียนอย่างบาลี=ทักขิณาบถ; คำว่า Deccan ก็เพี้ยนมาจากคำว่า “Daksฺinฺa/ทักษิณ” นั่นเอง)

แม่น้ำนรรมทา/นัมมทา พร้อมด้วยเทือกเขาวินธยะ (Vindhya Range) ที่แม่น้ำนั้นไหลเคียงคู่ไปจากตะวันออกสู่ตะวันตก กับทั้งป่าใหญ่ที่เรียกว่า มหากันตาระ (มหากันดาร) เป็นเส้นแบ่งโดยธรรมชาติระหว่างภาคทั้งสองนั้น

(ที่ว่านี้ เป็นความหมายอย่างกว้าง แต่ในความหมายที่จำกัดเฉพาะ หรืออย่างแคบ Deccan หมายเอาเพียงส่วนบนของภาคใต้นั้น ดังนั้น จึงไม่รวมแดนทมิฬซึ่งอยู่ใต้สุดที่เคยพูดถึงบ้างแล้ว)

อย่างไรก็ดี ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มักใช้แม่น้ำคงคาเป็นเครื่องกำหนดเขต คือถือดินแดนแถบแม่น้ำคงคานั้นว่าเป็นถิ่นกลาง(แห่งความเจริญ)/มัชฌิมเทส/มัธยมประเทศ นับถิ่นแดนข้างใต้จากฝั่งแม่น้ำคงคาลงไป เป็นทักขิณาบถ (หนใต้) และถิ่นแดนข้างเหนือเลยฝั่งแม่คงคาขึ้นไป เป็นอุตราบถ (หนเหนือ)

ในครั้งพุทธกาล ที่ถือว่าชมพูทวีปมีมหาชนบทคือรัฐใหญ่ 16 นั้น นับแคว้นอัสสกะ (ตอนบนของแม่น้ำโคธาวรี ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าโคทวรี/Godavari) และ อวันตี (ที่มีอุชเชนีเป็นเมืองหลวง) เข้าในฝ่ายทักขิณาบถ นับแคว้นคันธาระ (=ปากีสถานและอัฟกานิสถานตอนเหนือ) และกัมโพชะ (คงจะ=ตอนบนของอัฟกานิสถานถึงอาเซียกลางส่วนล่าง) เข้าในฝ่ายอุตราบถ ต่อมา สมัยหลังบางทีจัดมหาชนบททั้ง 16 เป็นมัธยมประเทศ เป็นที่รู้กันตลอดมาว่า อุตราบถเป็นแหล่งของอัสดรคือม้า และทักขิณาบถเป็นแหล่งของโค

พุทธศาสนาในทักษิณาบถ 

150 BC (ประมาณ; ตามฝรั่ง=พ.ศ. 333 นับอย่างเรา=พ.ศ. 393) ในดินแดนส่วนล่างของชมพูทวีป ที่เรียกว่า Deccan หรือทักษิณาบถ/ทักขิณาบถ นั้นมีถาวรวัตถุที่เป็นหลักฐานชัดเจนอย่างยิ่งว่าพระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะที่ควรกล่าวถึง คือ หมู่ถ้ำอชันตา (Ajanta; เรียกตามชื่อหมู่บ้านในถิ่นที่พบหมู่ถ้ำนั้น) ซึ่งตามด้วยหมู่ถ้ำเอลโลรา (Ellora; เรียกตามชื่อหมู่บ้านในถิ่นที่พบเช่นกัน) ในยุคหลังต่อมา

ดินแดนในทักษิณาบถนี้ เท่าที่ทราบกันมาว่าเป็นถิ่นของชาวอันธระ (เรียกตามบาลีว่า อันธกะ) และในพุทธศตวรรษที่ 3 (=ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์) ได้รวมเข้าในมหาอาณาจักรของพระเจ้าอโศกฯ (ส่วนปลายล่างที่เหลือของชมพูทวีปซึ่งเป็นแดนทมิฬ ยังปล่อยไว้เป็นเอกราช) และเป็นแคว้นหนึ่งที่พระเจ้าอโศกทรงส่งพระสมณทูตมาประกาศพระศาสนา (คัมภีร์สาสนวงส์ว่า อันธกรัฐเป็นแคว้นเมืองยักษ์/ยักขปุรรัฐ)

เชื่อกันว่า ราชวงศ์แรกที่ตั้งอาณาจักรใหญ่ขึ้นในทักษิณาบถ คือ สาตวาหนะ (ศาลิวาหนะ ก็เรียก) ซึ่งเริ่มต้นหลังยุคอโศก ในช่วงศตวรรษที่ 3 ถึง 1 ก่อนคริสต์ (พุทธศตวรรษที่ 3-5) และมีบทบาทในการกำจัดราชวงศ์ศุงคะลงด้วย การค้าระหว่างอินเดียกับกรุงโรมก็รุ่งเรืองในยุคนี้ บางช่วงที่เรืองอำนาจ ราชวงศ์สาตวาหนะขยายดินแดนขึ้นไปถึงอินเดียภาคกลางและภาคตะวันตก

เท่าที่สืบค้นได้ ถือกันว่า การเจาะแกะสลักภูเขาวาดภาพในหมู่ถ้ำ อชันตา เริ่มขึ้นในยุคสาตวาหนะนี้ คือ ราว พ.ศ. 400 (หรืออย่างเร็วสุดไม่ก่อน พ.ศ. 350) แต่ในช่วงแรกได้มีการทำงานนี้ถึงประมาณ พ.ศ. 500 หรือ 550 เท่านั้น แล้วก็หยุดไปนานจนผ่านพ้นยุคสาตวาหนะไป

 ถ้ำที่เจาะแกะสลักในช่วงแรกนี้มี 6 ถ้ำ เป็นของพระพุทธศาสนาหีนยานทั้งสิ้น (ได้แก่ถ้ำที่ 8, 9, 10, 12, 13, และ 30; งานเจาะแกะสลักถ้ำหยุดไป 400 กว่าปี จึงมีการทำต่อหรือเพิ่มอีกเมื่อใกล้ พ.ศ. 1000 ซึ่งจะกล่าวถึงในยุคต่อไป)

ตะวันตกตอนบน มีอชันตา อาคเนย์ มีอมราวตี 

ในยุคเดียวกันนี้ ห่างออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 670 กม. เมืองอมราวตีก็ได้เริ่มเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนา มีมหาวิหารที่เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาชื่อว่า “ศรีธันยกฏัก” เต็มไปด้วยวัดวาอาราม มีสถาปัตยกรรมเป็นแบบอย่าง รุ่งเรืองอยู่นานราว 500 ปี จนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 3

ใกล้ๆ กันนั้น ลึกเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ ถัดจากอมราวตี มาทางตะวันตกอีกราว 120 กม. (ห่างอชันตาออกไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 580 กม. ) เป็นที่ตั้งของนาคารชุนโกณฑะ (=Nagarjuna’s Hill/ดอยนาคารชุน) ที่สร้างถวายพระนาคารชุน (ช่วงชีวิต พ.ศ. 693-793) ผู้ตั้งนิกายมาธยมิก (บางทีถือว่าเป็นต้นกำเนิดมหายานด้วย แต่ยังไม่ยอมรับทั่วกัน) มีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่พระนาคารชุนสอน พร้อมทั้งสถูปเจดีย์วัดวาอาราม เป็นมหาสถานอันรุ่งเรือง ซึ่งพบแล้วขุดแต่งกันมาแต่ปี 2468 จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลสร้างเขื่อน “นาคารชุนสาคร” เสร็จในปี 2503 มหาสถานนี้ก็จึงจมอยู่ใต้ผืนน้ำ แต่รัฐได้พยายามรักษาบางส่วนที่สำคัญด้วยการจำลองไว้บนบกเป็นต้น

ราชวงศ์สาตวาหนะ ได้อุปถัมภ์บำรุงพุทธสถานทั้งหลายอย่างดี ตั้งแต่สาญจีลงมาถึงนาคารชุนโกณฑะและอมราวตี แต่สายวงศ์เองคงเป็นพราหมณ์ จึงมีการทำพิธีบูชายัญอัศวเมธ

อุตราบถ และมัธยมประเทศ 

128 BC (ตามฝรั่ง=พ.ศ. 355 นับอย่างเรา=พ.ศ. 415) หันกลับไปดูทางฝ่ายเหนือ อาณาจักรบากเตรีย คือโยนก ถูกชนเผ่าต่างๆ จากอาเซียกลางรุกรานเข้ามาเป็นระลอก เริ่มแต่พวกศกะ จนในที่สุดได้ตกเป็นของอาณาจักรกุษาณ ที่รุ่งเรืองต่อมา

ระหว่างนี้ ราชวงศ์ศุงคะ นอกจากอาณาจักรหดเล็กลงมากเพราะดินแดนใต้แม่น้ำนัมมทาลงไปได้ตกเป็นของอาณาจักรฝ่ายใต้ของราชวงศ์สาตวาหนะ (ที่เกิดขึ้นใหม่ในระยะที่มคธของราชวงศ์โมริยะกำลังแตกสลาย) แล้วก็อ่อนกำลังลงอีก เพราะต้องตั้งรับทัพกรีกโยนกอยู่เรื่อยๆ ต่อมาภายในก็เกิดปัญหาจนถูกกำจัดสิ้นวงศ์ใน พ.ศ. 410 (73 BC)

เมื่อบากเตรีย/โยนกหมดอำนาจ และศุงคะสิ้นวงศ์แล้ว ชมพูทวีปก็มีอาณาจักรยิ่งใหญ่อยู่ 2 คือ กุษาณทางฝ่ายเหนือ และสาตวาหนะในฝ่ายใต้

กุษาณได้แผ่อำนาจเข้าแทนที่กษัตริย์กรีกโยนก โดยขยายอาณาจักรลงมาจนถึงเมือง มถุรา (ใต้กรุงเดลีลงมา 137 กม. เยื้องไปทางตะวันออกเล็กน้อย; ในยุคใกล้พุทธกาล มถุราเป็นเมืองหลวงของแคว้นสุรเสนะ)

มถุรานอกจากเป็นศูนย์อำนาจของกุษาณในแถบล่างแล้ว ก็เป็นถิ่นที่รุ่งเรืองของศิลปะแม่แบบที่เรียกว่าตระกูลศิลป์แห่งมถุราด้วย โดยเจริญคู่กันมากับศิลปะแบบคันธาระ และราชวงศ์กุษาณก็ได้อุปถัมภ์บำรุงศิลปะทั้งสองสายนั้นกุษาณทางฝ่ายเหนือ กับสาตวาหนะในฝ่ายใต้ เป็นอาณาจักรร่วมสมัย ที่นับคร่าวๆ ว่าเริ่มต้นและสิ้นสุดในช่วงสมัยเดียวกัน (เริ่มในช่วง พ.ศ. 300-400 แล้ว สาตวาหนะสิ้น พ.ศ. 743 กุษาณสิ้น พ.ศ. 763)

พุทธศาสนารุ่งเรือง

ยุคที่ 2

พระเจ้ากนิษกะ ผู้ตั้งศกราช  

พ.ศ. 621 (ฝรั่งว่า ค.ศ. 78=พ.ศ. 561) พระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ยิ่งใหญ่ที่สุดของอาณาจักรกุษาณ ขึ้นครองราชย์ที่เมืองปุรุษปุระ (ปัจจุบัน=Peshwar) ถือเป็นเริ่มต้นศกกาล (=กาลเวลาของชนชาวศกะ หรือ=ศกราชกาล=กาลเวลาแห่งราชาของชนชาวศกะ) อันเป็นที่มาของคำว่า “ศักราช” (อินเดียได้ใช้ศกกาลนี้ เป็นศักราชของราชการ; ปัจจุบัน พ.ศ. 2545=2002-78=ศกกาล 1924)

พระเจ้ากนิษกะทรงเป็นพุทธมามกะยิ่งใหญ่ และได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนามากมาย ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไปทางอาเซียกลาง แล้วขยายต่อไปยังจีนเป็นต้น ทรงสืบต่อประเพณีพุทธในการให้เสรีภาพทางศาสนา พุทธศิลป์รุ่งเรืองมาก และได้ทรงสร้างมหาสถูปใหญ่ที่สุด สูง 638 ฟุตไว้ที่เมืองปุรุษปุระ

พระเจ้ากนิษกะสวรรคตราว พ.ศ. 645 (แต่บางตำราว่าครองราชย์ถึง 42 ปี) อาณาจักรกุษาณอยู่ต่อมาอีกศตวรรษเศษก็สิ้น

(ศกกาลหรือศกาพท์นั้น ก่อนรัฐบาลอินเดียใช้เป็นทางการของประเทศ ทางอินเดียใต้ได้ใช้กันมาโดยมีตำนานต่างจากข้างต้นว่า พระเจ้าศาลิวาหนะแห่งราชวงศ์สาตวาหนะเป็นผู้ตั้งขึ้น เมื่อทรงชนะและได้สังหารพระเจ้าวิกรมาทิตย์ ราชาชาวศกะ แห่งกรุงอุชเชนี ใน ค.ศ. 78, เรื่องนี้ตรงข้ามกับอินเดียเหนือที่นิยมใช้ศักราชชื่อว่า วิกรมสังวัต ของพระเจ้าวิกรมาทิตย์ในตำนาน ซึ่งก็ว่าตั้งเมื่อชนะชาวศกะ ในปี 56 BC, แต่ในประวัติศาสตร์ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ คือจันทรคุปต์ที่ 2 แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งได้ขับไล่ชนชาวศกะออกไปจากอุชเชนี ในปี 943/400)

สังคายนา ที่มหายานปรากฏตัว  

พ.ศ. 643 (=ค.ศ. 100) พระเจ้ากนิษกะ ทรงอุปถัมภ์การสังคายนาที่พระสงฆ์นิกายสรวาสติวาทจัดขึ้นที่เมืองชลันธร (ปัจจุบัน = Jullundur ไม่ไกลจาก Lahore) แต่หลักฐานบางแห่งว่าจัดที่กัศมีระ (แคชเมียร์) หลักฐานฝ่ายจีนว่าได้จารึกพุทธพจน์ลงบนแผ่นทองแดง

สังคายนานี้นับโดยรวมเป็นครั้งที่ 4 แต่ทางเถรวาทไม่นับ และนิกายสรวาสติวาทก็นับเป็นครั้งที่ 3 เพราะไม่นับการสังคายนาสมัยพระเจ้าอโศกฯในสังคายนาครั้งนี้ พระอัศวโฆษ ปราชญ์ใหญ่ยุคแรกของมหายาน (เป็นกวีเอกของชมพูทวีปก่อนกาลิทาส และถือกันว่าเป็นผู้รจนา มหายานศรัทโธทปาท

ศาสตร์ คือคัมภีร์ว่าด้วยการเกิดขึ้นแห่งศรัทธาในมหายาน และ พุทธจริต) ได้ร่วมจัด และได้กล่าวแสดงหลักธรรมของมหายานเป็นอันมาก นับว่าเป็นการปรากฏตัวครั้งสำคัญของมหายาน และเป็นการที่มหายานยอมรับสังคายนาครั้งนี้ด้วย กับทั้งถือเป็นจุดเริ่มที่มหายานจะเจริญรุดหน้าต่อมา แม้นิกายสรวาสติวาทจะสูญไป ก็ถือสังคายนานี้เสมือนเป็นสังคีติของมหายาน

พ.ศ. 701 – 800

พามิยาน ศูนย์การค้า ศาสนา ฯลฯ  

ในยุคนี้และต่อเนื่องมาประมาณ 700 ปี เมืองพามิยาน (Bamian หรือ Bamiyan; อยู่ห่างจากกาบุล/Kabul เมืองหลวงของอัฟกานิสถานปัจจุบันไปทางตะวันตกราว 150 กม.) เป็นศูนย์กลางทางศาสนา วัฒนธรรม และการค้า บนเส้นทางพาณิชย์ระหว่างอินเดียกับอาเซียกลาง โดยเชื่อมตะวันออกถึงจีน กับตะวันตกถึงโรม มีการสร้างพุทธสถาน วัดวาอารามรวมทั้งวัดถ้ำมากมาย ที่น่าสังเกตคือ พระพุทธรูปใหญ่มหาปฏิมากรรม ที่แกะสลักหินผาหน้าภูเขาเข้าไป 2 องค์ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าสร้างในช่วง พ.ศ. 750-1000 องค์หนึ่งสูง 53 เมตร อีกองค์หนึ่งสูง 37 เมตร (พระถังซำจั๋งได้ผ่านมาเห็นและบันทึกว่าองค์พระประดับด้วยทองคำและเพชรนิลจินดา)

เปอร์เซียรุ่ง ชมพูทวีปรวน  

พ.ศ. 763 สิ้นราชวงศ์กุษาณ (สาตวาหนะ แห่งทักษิณาบถ ก็ได้สิ้นไปใกล้ๆ กันเมื่อ พ.ศ.743)

เวลาศตวรรษหนึ่งต่อแต่นี้เป็นช่วงมืดมัวแห่งประวัติศาสตร์ของชมพูทวีป ทราบกันเพียงว่า อาณาจักรเปอร์เซีย หรืออิหร่านโบราณของราชวงศ์สาสสนิท (Sassanid) แผ่ขยายอำนาจ จนในที่สุด อาณาจักรกุษาณ รวมถึงบากเตรียหรือโยนก ได้ตกเป็นของอาณาจักรเปอร์เซีย และชมพูทวีปก็ระส่ำระสายจนขึ้นสู่ยุคคุปตะในศตวรรษต่อมา

งานอชันตา ฟื้นขึ้นมาและเดินหน้าต่อไป  

พ.ศ. 800 (โดยประมาณ; กลางหรือปลาย ค.ศต.ที่ 3) ทางด้านทักษิณาบถ เมื่อสาตวาหนะเสื่อมอำนาจไปแล้ว ที่ Deccan ตอนบน ราชวงศ์วากาฏกะ (นักโบราณคดีบางท่านสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อสายกรีก) ได้ขึ้นครองอำนาจ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ปุริกา (ต่อมาย้ายไปที่นาสิก/Nasik แล้วย้ายอีกไปที่ประวรปุระ)

ในช่วงเวลาใกล้กันนี้ ในอินเดียภาคเหนือ ก็มีราชวงศ์คุปตะรุ่งเรืองขึ้นมา และมีสัมพันธไมตรีอันดีกับที่นี่ กับทั้งทะนุบำรุงศิลปกรรมเช่นกัน

ทั้งสองอาณาจักรนี้เจริญคู่เคียงกันมา และสิ้นวงศ์ในเวลาใกล้กัน (คุปตะสิ้น พ.ศ. 1083=ค.ศ. 540 ส่วนวากาฏกะก็สิ้นในช่วงใกล้กันนั้น)

ในยุคของวากาฏกะนี้ งานศิลป์ที่หมู่ถ้ำอชันตาได้กลับฟื้นขึ้นและเฟื่องฟูสืบต่อมาในสมัยราชวงศ์จาลุกยะ (พ.ศ. 1086-1300) ด้วย

พุทธศตวรรษที่ 8-12 อาเซียกลาง โดยเฉพาะเมืองกูจา (Kucha ถ้าวัดตรงเป็นเส้นบรรทัด ก็อยู่เลยตักสิลาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ราว 1,250 กม. แล้วต่อลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้อีกราว 2,400 กม. จึงจะถึงเมืองเชียงอาน) ได้เป็นศูนย์กลางสำคัญของพระพุทธศาสนา ที่แผ่พระพุทธศาสนาต่อจากชมพูทวีปไปยังประเทศจีน โดยเส้นทางสายไหม มีพระภิกษุหลายท่านเดินทางไปจีนจากเมืองนี้ (เมืองอื่นที่สำคัญก็เช่น โขตาน/Khotan ที่บัดนี้เป็น Hotan ซึ่งห่างตักสิลาเพียง 750 กม.)

อินเดียรุ่งใหม่ ในยุคคุปตะ  

พ.ศ. 863 (ค.ศ. 320) หลังกุษาณสิ้นวงศ์แล้ว และชมพูทวีปปั่นป่วนอยู่ พระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 1 (ตั้งชื่อเลียนแบบจันทรคุปต์แห่งโมริยวงศ์) รวบรวมดินแดนชมพูทวีปแถบเหนือ ฟื้นมคธขึ้นมา ตั้งราชวงศ์ใหม่ชื่อคุปตะ ครองราชย์ที่เมืองปาฏลีบุตร นำอินเดียขึ้นสู่ความรุ่งเรืองอีกครั้งนานราว 220 ปี

(เฉพาะในรัชกาลพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 วิกรมาทิตย์ พ.ศ. 923-958 ได้ตั้งเมืองหลวงที่อโยธยา ซึ่งในครั้งโบราณเคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศลตั้งแต่สมัยพระรามในเรื่องรามเกียรติ์ คือรามายณะ ก่อนจะย้ายมาตั้งที่สาวัตถี ส่วนในครั้งพุทธกาล อโยธยามีชื่อว่าสาเกต อยู่ห่างกุสินาราไปทางตะวันตก 170 กม.)

ในยุคนี้ ศิลปะแบบคุปตะได้เจริญขึ้นมาแทนที่ศิลปะแบบคันธาระ-กรีก ที่ค่อยๆ หายไป

กษัตริย์ในราชวงศ์คุปตะ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นฮินดู แต่ได้อุปถัมภ์มหาวิทยาลัยนาลันทาอย่างมากในฐานะสถานศึกษา

หลวงจีนฟาเหียนมาบก กลับทะเล  พ.ศ. 945 (ค.ศ. 402) หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) จาริกทางไกลแสนกันดารจากเมืองจีน ข้ามทะเลทรายโกบีและป่าเขามากมาย ฝ่าทั้งลมร้อนและหิมะยะเยือก ผ่านทางอาเซียกลางมาถึงชมพูทวีป เข้าทางคันธาระ เยือนปุรุษปุระ ตักสิลา ไปจนถึงกบิลพัสดุ์ นมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 ศึกษาที่ปาฏลีบุตร อยู่ในอินเดียยุค

ราชวงศ์คุปตะ 10 ปี แล้วนำคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นต้น เดินทางกลับเมืองจีนโดยทางเรือ แวะพำนักที่ลังกาทวีป 2 ปี ผจญภัยในทะเล ครั้งหนึ่งถูกคลื่นใหญ่ซัดไปขึ้นเกาะ (คงจะเป็นชวา แต่เวลานั้นยังไม่มีอาณาจักรศรีวิชัย) ฝ่าคลื่นลมร้ายเกือบ 7 เดือน จึงถึงเมืองจีน แล้วแปลพระคัมภีร์ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีน และเขียนบันทึกการเดินทางไว้ ซึ่งฝรั่งแปลเป็นหนังสือ ตั้งชื่อว่า “Record of Buddhist Kingdoms” ให้ความรู้เรื่องสภาพพระพุทธศาสนาในอินเดียยุคที่รุ่งเรือง เช่น วัดวาอารามมากมายที่ตักสิลา ก่อนถูกพวกฮั่นทำลาย ก่อนจะถูกศาสนาฮินดูเริ่มกลืน และก่อนจะพินาศในยุคที่ทัพมุสลิมบุกเข้ามา

ฮั่น-ฮินดู ทำลายพุทธ  

พ.ศ. 950-1050 (โดยประมาณ) พวกพราหมณ์ดำเนินแผนทำลายพระพุทธศาสนาด้วยวิธีกลืน โดยแต่งคัมภีร์วิษณุปุราณะขึ้น บอกว่าเทวดารบแพ้อสูร จึงมาขอพึ่งองค์วิษณุคือพระนารายณ์ พระองค์จึงอวตารมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อหลอกพวกอสูร ให้ละทิ้งพระเวทและเลิกบูชายัญ พวกอสูรจะได้เสื่อมฤทธิ์ แล้วฝ่ายเทวดาจะได้มาปราบอสูรได้ง่าย (หมายความว่า ชาวพุทธ ก็คือพวกอสูรที่ถูกพระพุทธเจ้าหลอกให้ละทิ้งพระเวทอันศักดิ์สิทธิ์และยัญพิธีอันประเสริฐ มาสู่ทางแห่งความเสื่อม) เรียกพุทธาวตารว่าเป็นนารายณ์ปาง “มายาโมหะ” และบอกว่านารายณ์จะอวตารปางที่ 10 เรียกว่ากัลกยาวตารลงมากำจัดพวกอสูรคือชาวพุทธที่พระพุทธเจ้าหลอกออกมาไว้แล้วนี้ อีกทีหนึ่ง

ในช่วงนี้ ลัทธิ “ภักติ” คือ ความมีศรัทธาด้วยใจรักภักดีต่อเทพเจ้าอย่างแรงเข้มในเชิงอารมณ์ ได้มีกระแสแรงขึ้นด้วย ส่งผลกระทบต่อพระพุทธศาสนามาก

พระพุทธโฆสาจารย์ จากชมพูทวีป ไปสืบอรรถกถาที่ลังกา  พ.ศ. 965 (ค.ศ. 422) เนื่องจากพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปเสื่อมลงมาก แม้จะยังรักษาพระไตรปิฎกบาลีไว้ได้ แต่คัมภีร์อธิบายที่จะใช้เป็นเครื่องช่วยในการศึกษา มีอรรถกถา เป็นต้น ได้สูญสิ้นไป พระพุทธโฆสได้รับคำแนะนำจากพระอุปัชฌาย์ คือพระเรวตเถระ ให้เดินทางไปลังกาทวีปเพื่อแปลอรรถกถาจากภาษาสิงหลกลับเป็นภาษาบาลี แล้วนำมายังชมพูทวีป เมื่อท่านไปถึงลังกาทวีปในปี 965 แล้ว ต่อมาได้ขออนุญาตแปลคัมภีร์ พระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา 2 บท เพื่อแต่งคำอธิบายเป็นการทดสอบความรู้ ท่านเรียบเรียงคำอธิบายคาถาทั้งสองนั้นขึ้นเสร็จเป็นคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ในปี 973 จากนั้นจึงได้รับอนุญาตให้แปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์เป็นพระอรรถ

กถาจารย์ที่มีผลงานมากที่สุด (ตำราต่างเล่มบอก พ.ศ. ต่างกันบ้าง)

พ.ศ. 1001 – 1100

มหาวิทยาลัยวลภี ที่เคยยิ่งใหญ่คู่กับนาลันทา  

พ.ศ. 1013 (ค.ศ. 470) ในช่วงที่ราชวงศ์คุปตะอ่อนแอลงจะแตกสลาย ได้มีอาณาจักรใหม่ๆ ทยอยเกิดขึ้นหลายแห่ง มีทั้งที่อุปถัมภ์ และที่ทำลายพระพุทธศาสนา เริ่มแต่อาณาจักรวลภีของราชวงศ์ไมตรกะ ที่ตั้งขึ้นทางตะวันตก (ปัจจุบันคือ Valabhipur ในรัฐ Gujarat) จนถึงอาณาจักรกรรณสุวรรณ (เคาทะ) ของราชาศศางกะ (ก่อน พ.ศ. 1148-1162=ก่อน ค.ศ. 605-619) ทางตะวันออก (แถบเบงกอล เทียบคร่าวๆ เวลานี้คือแถวเมืองกัลกัตตาและบังคลาเทศ)

พ.ศ. 1018 (โดยประมาณ; ค.ศ. 475) ที่วลภีราชธานี เจ้าหญิงทุฑฑาแห่งราชวงศ์ไมตรกะ ได้ทรงก่อตั้งมหาวิหารของพระพุทธศาสนาฝ่ายหีนยาน ที่ภายหลังเรียกว่ามหาวิทยาลัยวลภี ซึ่งเจริญรุ่งเรืองต่อมากว่า 200 ปี

อชันตาเลิกไป เอลโลราเริ่มไม่นาน  

พ.ศ. 1033 (ค.ศ. 490) วากาฏกะ ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นมาตั้งแต่ราว พ.ศ. 800 ต่อจากสาตวาหนะ แม้จะเป็นราชวงศ์ฮินดู ดังที่กษัตริย์องค์ที่ 2 ได้ประกอบพิธีอัศวเมธ (ฆ่าม้าบูชายัญ) ถึง 4 ครั้ง แต่กษัตริย์รุ่นหลังหลายองค์เป็นชาวพุทธ และได้ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก งานบุญสำคัญชิ้นหนึ่ง คือการขุดเจาะแกะสลักวัดถ้ำ (ทางโบราณคดีจัดนับเป็นถ้ำที่ 16) ที่อชันตา ซึ่งได้ถวายแก่สงฆ์ในราว พ.ศ. 1033

เวลาตั้งแต่ใกล้ พ.ศ. 1000 ในยุควากาฏกะนี้ เป็นช่วงระยะแห่งการฟื้นใหม่ของการเจาะแกะสลักภูเขาวาดภาพในหมู่ถ้ำอชันตา หลังจากหยุดเงียบไป 400 กว่าปี ตั้งแต่ยุคสาตวาหนะ

แม้สิ้นยุควากาฏกะแล้ว งานสลักวัดถ้ำที่อชันตาก็ดำเนินต่อมาในยุคของราชวงศ์จาลุกยะ จนยุติประมาณ พ.ศ. 1200 ถ้ำยุคหลังนี้มีเพิ่มอีก 24 เป็นของพุทธศาสนามหายานล้วนขณะที่งานสลักวัดถ้ำที่อชันตายุติลง ก็ได้มีการแกะสลักวัดถ้ำขึ้นที่เอลโลรา (เรียกตามชื่อหมู่บ้านที่นั่นในปัจจุบัน; อยู่ห่างอชันตาลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ 80 กม.) ซึ่งเริ่มต้นในช่วง พ.ศ. 1100-1200 และหยุดเลิกประมาณ พ.ศ. 1400 รวมมี 34 ถ้ำ แต่เป็นของ 3 ศาสนา คือ พุทธ ฮินดู และเชน ต่างจากอชันตา ที่นอกจากเก่าแก่แล้ว ก็เป็นของพุทธศาสนาอย่างเดียว

พวกฮั่นทำลายตักสิลา วัดวาหมดสิ้น  

พ.ศ. 1040 (โดยประมาณ; ราว ค.ศ. 500) พวกหูณะ หรือฮั่นขาว ซึ่งเป็นชนเผ่าเร่ร่อนจากอาเซียกลางตอนเหนือ ได้บุกเข้ามาครอบครองชมพูทวีปภาคตะวันตก-เฉียงเหนือทั้งหมด รวมทั้งโยนก (Bactria) และคันธาระ เฉพาะอย่างยิ่ง ได้ทำลายเมืองตักสิลา (พวกกรีกเรียกว่า Taxila บาลี=ตกฺกสิลา; สันสกฤต=ตกฺษศิลา) ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาแถบพายัพลงสิ้นเชิง

นับแต่นี้ ศิลปะแบบคันธาระที่เสื่อมลงตั้งแต่เข้ายุคคุปตะ ไม่มีผลงานใหม่เกิดขึ้นอีก แต่ศิลปะแบบคุปตะยังคงเจริญต่อมา

อวสานราชวงศ์คุปตะ  

พ.ศ. 1050 เศษ กษัตริย์หูณะ หรือฮั่นขาว นามว่า มิหิรกุละ (หรือมหิรคุละ; ได้สมญาว่า “อัตติลา/Attila แห่งอินเดีย) ผู้โหดร้าย เป็นฮินดูนิกายไศวะ ครองเมืองสาคละ รุกเข้ามา ได้ต่อสู้กับกษัตริย์คุปตะ และให้กำจัดพระพุทธศาสนา โดยทำลายวัด สถูป และสังหารชาวพุทธจำนวนสุดคณนา (ตัวเลขบางแห่งว่าวัดถูกทำลาย 1,600 วัด) แต่ในที่สุดได้ทำอัตวินิบาตกรรม ใน พ.ศ. 1083 

การรุกรานของพวกฮั่นบั่นทอนอำนาจของราชวงศ์คุปตะอย่างยิ่ง จนในที่สุดประมาณ พ.ศ. 1083 (ค.ศ. 540) จักรวรรดิคุปตะก็แตกสลาย

ช่วงต่อสู่ยุคใหม่ ก่อนอินเดียลุกดังไฟ  

พ.ศ. 1086-1300 (ค.ศ. 543-757) ราชวงศ์จาลุกยะ ครองราชย์ที่วาตาปีปุระ ในตอนกลางและตะวันตกของทักษิณาบถ

ส่วนทางอินเดียฝ่ายเหนือ เมื่อคุปตะอ่อนแอลงจนจบสิ้นวงศ์ เพราะการเข้ามาของพวกหูณะดังกล่าวแล้วนั้น หลังจากวุ่นวายอยู่ระยะหนึ่ง ก็มีกษัตริย์ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น คือพระเจ้าหรรษะ (พ.ศ. 1149-1190=ค.ศ. 606-647) ซึ่งมีรัชกาลตรงกันพอดีกับราชาที่เรืองอำนาจที่สุดของจาลุกยะ คือ พระเจ้าปุลเกศินที่ 2 (พ.ศ. 1153-1185=ค.ศ. 610-642)

เมื่อพระเจ้าหรรษะแผ่อำนาจลงทางใต้ราว พ.ศ. 1253 ก็ได้พ่ายแก่พระเจ้าปุลเกศินที่ 2 และถูกจำกัดอาณาเขตอยู่แค่แม่น้ำนัมมทา

แม้ว่าต่อมาจาลุกยะจะสิ้นวงศ์ไปใน พ.ศ. 1300 แต่ราชวงศ์ราษฏรกูฏที่ขึ้นมาแทน ก็อุปถัมภ์งานศิลป์สลักภูเขาสืบมา

น่าสังเกตด้วยว่า ราชวงศ์จาลุกยะ ต่อด้วยราชวงศ์ราษฏรกูฏที่เข้มแข็งขึ้นมาแทนที่ แล้วแผ่อำนาจ เที่ยวรบกับอาณาจักรอื่นๆ ทั้งในภาคกลางและภาคเหนือ ใน

ระยะนี้ ได้เป็นเครื่องกีดกั้นชนมุสลิมอาหรับที่เข้ามาตั้งอาณาจักรในแถบแคว้นสินท์ให้ไม่สามารถขยายดินแดนออกไป

(แคว้นสินท์/Sind ในปัจจุบัน ซึ่งบางตำราบางครั้งก็เขียน Sindh/สินธ์ นั้น ก็มาจากคำว่า “สินธุ” ที่เป็นชื่อแม่น้ำสำคัญของดินแดนแถบนั้นนั่นเอง)

ราชวงศ์จาลุกยะสามารถกู้อำนาจคืนมาได้ใน พ.ศ. 1518 (ค.ศ. 975) และครองอาณาจักรอยู่จนถึง พ.ศ. 1732 (ค.ศ. 1189)

ราชวงศ์จาลุกยะที่กล่าวมานี้เรียกว่าจาลุกยะตะวันตก เพราะในเวลาใกล้กันนี้มีจาลุกยะอีกพวกหนึ่งครองอาณาจักรเวงคี (ดินแดนแคว้นอันธระระหว่างแม่น้ำโคทาวรี กับแม่น้ำกฤษณะ) ในระยะ พ.ศ. 1167-1613 (ค.ศ. 624-1070) เรียกว่าราชวงศ์จาลุกยะตะวันออก

หมู่ถ้ำอชันตา-เอลโลรา ว่าโดยสรุป  

เรื่องหมู่ถ้ำอชันตา-เอลโลรา นั้น สร้างกันมาโดยหลายอาณาจักร หลายราชวงศ์ ผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษ ควรจะสรุปไว้เพื่อเข้าใจชัด (เท่าที่สันนิษฐานกันมา) ดังนี้

ที่ตั้ง: รัฐมหาราษฎร์ อินเดียตอนกลางภาคตะวันตก ใกล้เมืองออรังคาบาด (Aurangabad)

อชันตา ห่างจากออรังคาบาด ขึ้นไปทางเหนือเยื้องตะวันออก 84 กม. 

(105 กม.โดยรถยนต์)

เอลโลรา ห่างจากออรังคาบาด ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 15 กม. 

(29 กม.โดยรถยนต์)

1. อชันตา เป็นหมู่ถ้ำแรก เกิดมีในช่วง พ.ศ. 400-1200 และเป็นของ
พุทธศาสนาล้วนๆ รวมมี 30 ถ้ำ แบ่งเป็น

       ก) ถ้ำพุทธศาสนาหีนยาน

  – พ.ศ. 400-600

        – มี 6 ถ้ำ (ที่ 8, 9, 10, 11, 12, 13, 30)

ข) ถ้ำพุทธศาสนามหายาน

– พ.ศ. 1000-1200

– มี 24 ถ้ำ (ที่เหลือจาก 6 ถ้ำของหีนยาน)

(พึงทราบว่า ถ้ำที่ 30 บัดนี้ไม่มีทางขึ้นไป อาจถูกหินถล่มทับ? บางตำราไม่นับ จึงบอกจำนวนว่ามีเพียง 29 ถ้ำ)2. เอลโลรา เป็นหมู่ถ้ำหลัง เกิดมีในช่วง พ.ศ. 1100 หรือ 1200 ถึง 1400 เป็นของ 3 ศาสนา คือ พระพุทธศาสนามหายาน ตามด้วยฮินดู และเชน รวมมี 34 ถ้ำ แบ่งเป็น

ก) ถ้ำพุทธศาสนามหายาน

– พ.ศ. 1100-1350

– มี 12 ถ้ำ (ที่ 1-12) 

ข) ถ้ำฮินดู

  • พ.ศ. 1200-1450
  • – มี 17 ถ้ำ (ที่ 13-29)
  • ค) ถ้ำเชน 

– พ.ศ. 1350-1450

  • มี 5 ถ้ำ (ที่ 30-34)

ถ้ำเดิม เมื่อเริ่มคือวัด แต่ไปมาตวัดเป็นวิมาน  

เนื่องจากถ้ำเหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจากคติของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีถ้ำเป็นเสนาสนะคือที่อยู่อาศัยอย่างหนึ่งตามพระพุทธบัญญัติ พร้อมนั้น วัดก็เป็นที่บำเพ็ญกุศลเจริญธรรมของประชาชน การเจาะสลักทำถ้ำเหล่านี้จึงเป็นการสร้างวัดถ้ำ ดังนั้น ถ้ำรุ่นเก่า โดยเฉพาะถ้ำพุทธที่ อชันตา จึงแยกเป็น 2 แบบ คือ วิหาร ได้แก่ที่อยู่ของพระ กับ ไจตยะ (=เจติยะ=เจดีย์) อันเป็นที่เคารพบูชา หรือที่ศักดิ์สิทธิ์

ศิลปกรรมที่นี่ ทั้งประติมากรรม และจิตรกรรม ดีเด่นเป็นแบบแก่ที่อื่น โดยเฉพาะภาพวาดที่อชันตา เป็นที่นิยมแพร่ไปทางอัฟกานิสถาน (คันธาระ และโยนก) อาเซียกลาง จนถึงจีน

หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือพระถังซำจั๋ง ก็ได้เขียนบันทึกไว้ กล่าวถึงถ้ำอชันตา เมื่อ พ.ศ. 1183 

อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นได้ว่า ในยุคหลังๆ ความหมายและวัตถุประสงค์เดิมของงานสร้างถ้ำได้หดหายและกลายเป็นอย่างอื่นดังจะเห็นชัดจากผลงานยุคท้ายๆ โดยเฉพาะถ้ำไกลาสของฮินดู ที่สันนิษฐานกันว่ากษัตริย์ กฤษณะที่ 1 (ราว พ.ศ. 1299-1316) แห่งราชวงศ์ราษฏรกูฏให้สร้างขึ้น

นั้น นอกจากไม่เป็นที่อยู่ของพระ และไม่เป็นศิลป์เพื่อสอนธรรมแล้ว ก็ไม่เป็นถ้ำอย่างใดเลย แต่เป็นเทวสถานอันมีจุดเน้นที่พิธีกรรมและความยิ่งใหญ่โดยแท้ จากถ้ำพุทธยุคแรกที่มีแต่ความเรียบง่าย สุขสงบกับธรรมชาติ และเป็นที่ฉายออกแห่งเมตตากรุณา เปลี่ยนมาเป็นเทวสถานโอ่อ่าที่ผู้ยิ่งใหญ่เพลินเมาสำราญสำเริงกามและแสดงอำนาจกดกำราบอย่างโหดเหี้ยมให้น่าเกรงขาม

เริ่มต้นเป็นปูชนีย์ ฟื้นอีกทีเป็นแค่ที่เที่ยวดู  

ต่อมา หมู่ถ้ำเหล่านี้ได้ถูกทิ้งร้างไป และหายจากความทรงจำหลายศตวรรษ แม้กระทั่งคนถิ่นก็ไม่รู้ จนกระทั่งในยุคที่อังกฤษปกครอง ได้มีทหารอังกฤษ ของบริษัท อีสต์อินเดีย (East India Company) มาล่าสัตว์และพบโดยบังเอิญ เมื่อ พ.ศ. 2362 (ค.ศ. 1819) ชาวโลกจึงได้รู้จัก

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดแก่การท่องเที่ยวแล้ว ในระยะต้นได้เกิดความสูญเสียมากมาย ทั้งแก่รูปภาพและรูปปั้น จากการจับ-ลูบ-ลอกของผู้มาชม การดูแลรักษาไม่ถูกวิธี ตลอดจนคนทุจริต เช่น เคยมีเจ้าหน้าที่นำเที่ยวตัดเศียรองค์ปฏิมาต่างๆ ไปขาย กว่าจะจัดให้มีการอนุรักษ์ให้เรียบร้อยลงตัวตามวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องได้ ถ้ำก็เสื่อมโทรมไปมาก

หลักฐานอันถาวรชัดเจนของอดีตที่หมู่ถ้ำเหล่านี้ น่าจะเป็นแหล่งที่ดีสำหรับการศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ และลักษณะแห่งวิวัฒน-หายนาการ ที่ได้เป็นไปในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งให้เห็นอนิจจภาวะที่จะปลุกเร้าเตือนใจให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

หลังพุทธกาล

ภัยนอก – ภัยใน จนมลายสูญสิ้น

พ.ศ. 1101 – 1200

พุทธฯ ถูกทำลายอีก ก่อนฟื้นใหม่  

พ.ศ. 1148-1162 (ค.ศ. 605-619) ราชา ศศางกะ เป็นฮินดูนิกายไศวะ ได้ดำเนินการทำลายพระพุทธ-ศาสนาอย่างรุนแรง เช่น สังหารพระสงฆ์ที่กุสินาราหมดสิ้น โค่นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา นำพระพุทธรูปออกจากพระวิหารแล้วเอาศิวลึงค์เข้าไปตั้งแทน แม้แต่เงินตราของรัชกาลก็จารึกข้อความกำกับพระนามราชาว่า “ผู้ปราบพุทธศาสนา”

ทั้งฮั่น และศศางกะ ถึงอวสาน  

พ.ศ. 1148 (ค.ศ. 605) หลังช่วงเวลาวุ่นวายในชมพูทวีป กษัตริย์ราชวงศ์วรรธนะได้ปราบพวกหูณะลงได้ใน พ.ศ. 1148 แต่แล้วราชาใหม่ราชยวรรธนะก็ถูกราชา ศศางกะใช้กลลวงปลงพระชนม์เสีย

เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าชายหรรษวรรธนะผู้เป็นอนุชา ต้องเข้ามารักษาแผ่นดิน ขึ้นครองราชย์ที่เมืองกันยากุพชะ (ปัจจุบัน=Kanauj) มีพระนามว่าหรรษะ แห่งราชวงศ์วรรธนะ และได้กลายเป็นราชายิ่งใหญ่พระองค์ใหม่

ราชาศศางกะที่เป็นฮินดูไศวะ ก็สิ้นอำนาจใน พ.ศ. 1162 แล้วดินแดนทั้งหมดก็เข้ารวมในจักรวรรดิของพระเจ้าหรรษวรรธนะ

พุทธศาสนารุ่งเรือง

ยุคที่ 3

อินเดียตั้งตัวได้ พุทธรุ่งสุดท้าย  พ.ศ. 1149-1190 (ค.ศ. 606-647) พระเจ้าหรรษะ (หรรษวรรธนะ หรือหรรษะศีลาทิตย์ ก็เรียก) เป็นกษัตริย์ชาวพุทธ ได้ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา รวมทั้ง

อุปถัมภ์มหาวิทยาลัยนาลันทา

พระเจ้าหรรษะ ทรงดำเนินนโยบายคล้ายอย่างพระเจ้าอโศกฯ มุ่งบำรุงสุขของประชาชน เช่น สร้างศาลาสงเคราะห์คนเดินทาง คนยากจน คนเจ็บไข้ ทั่วทั้งมหาอาณาจักร และที่เมืองประยาค ณ จุดบรรจบของแม่น้ำคงคากับยมุนา ทุก 5 ปี ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ที่เกิดมีขึ้นในช่วง 4 ปีก่อนๆ แก่มหาสมาคม รวมทั้งส่งเสริมเสรีภาพทางศาสนา

(ที่ประยาค มีหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกด้วย ปัจจุบัน=Allahabad เป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ ระดับเดียวกับพาราณสี ชาวฮินดูมีงานพิธีที่นี่ทุกปี โดยเฉพาะทุกรอบ 12 ปี จะมีนักบวชฮินดูจาริกมาชุมนุมครั้งใหญ่ยิ่ง เรียกว่า “กุมภเมลา” ที่คนมาอาบน้ำล้างบาปบางทีถึง 18 ล้านคน พระเจ้าหรรษะคงจะทรงใช้โอกาสนี้ในการบำเพ็ญมหาทาน)

เหี้ยนจัง แห่ง นาลันทา  

พ.ศ. 1172-1188 (ค.ศ. 629-645) หลวงจีนเหี้ยนจัง (Hsuan-tsang; เกิด พ.ศ. 1145) หรือยวนฉาง หรือที่มักรู้จักกันในนามว่า พระถังซำจั๋ง จะไปสืบพระไตรปิฎกที่อินเดีย (พูดกันมาแบบภาษาชาวบ้านว่า ไปไซที คือไปแดนตะวันตก) ได้จาริกจากกรุงจีน ผ่านทางโยนก คันธาระ กัศมีระ (คือ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดียพายัพปัจจุบัน) 

ที่เมืองจีน เวลานั้น เป็นรัชกาลพระเจ้าถังไทจง ซึ่งครองราชย์ใน พ.ศ. 1169-1202 (ค.ศ. 626-649) 

หลวงจีนเหี้ยนจังได้มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาจนจบแล้วสอนที่นั่นระยะหนึ่ง จึงนำคัมภีร์พระไตรปิฎกเป็นต้นจำนวนมาก เดินทางกลับถึงเมืองเชียงอาน/
ฉางอาน ในพ.ศ. 1188 หลังจากจากไป 16 ปี ท่านได้รับ
การต้อนรับยกย่องอุปถัมภ์บำรุงอย่างยิ่งจากพระจักรพรรดิจีน แล้วทำงานแปลพระไตรปิฎกสั่งสอนธรรมต่อมาจนถึง
มรณภาพใน พ.ศ. 1207 กับทั้งได้เขียนบันทึกการเดินทางไว้ ชื่อว่า Great Tang Records on the Western Regions โดยท่านเป็นผู้บอกเล่า และพระลูกศิษย์จดบันทึกไว้หลวงจีนเหี้ยนจัง มีชื่อสันสกฤตด้วยว่า พระโมกษ-
เทวะ

พระถังซำจั๋ง แห่ง “ไซอิ๋ว”  อีกเกือบ 1,000 ปีต่อมา ได้มีกวีแต่งเรื่องของท่านเป็นนิยายชื่อ Hsi-yu-chi (Record of a Journey to the West หรือ Buddhist Records of the Western World) ที่คนไทยเรียกว่า “ไซอิ๋ว” และได้มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์ออกมาแล้วบางส่วนเมื่อปี 1942 ตั้งชื่อว่า Monkey

ตักสิลา ครั้งเหี้ยนจัง กับฟาเหียน  

หลวงจีนเหี้ยนจัง ได้บรรยายภาพความเจริญและความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปไว้ ทั้งด้านพายัพ แถบโยนก คันธาระ กัศมีระ ที่เดินทางผ่าน เช่นว่าได้พบพระพุทธรูปใหญ่ที่ พามิยาน (Bamian) ซึ่งแกะสลักเข้าไปในหน้าผา 2 องค์ (สูง 52 และ 37 เมตร) ประดับประดางดงามด้วยเพชรนิลจินดา (ที่พวกทาลีบันทำลายเมื่อ พ.ศ. 2544) และสภาพพระพุทธศาสนาในตักสิลาที่พินาศสูญสิ้นไปแล้วหลังจากที่ถูกพวกฮั่นทำลาย

สภาพชมพูทวีปที่พระถังซำจั๋งเล่า ตรงข้ามกับคำพรรณนาของหลวงจีนฟาเหียน ที่เข้ามาเมื่อ 228 ปีก่อน ครั้งที่ตักสิลารุ่งเรือง ซึ่งเต็มไปด้วยวัดวาอารามงดงามทั่วไป ทางด้านวัตถุก็เหลือแต่ความรกร้าง ส่วนในด้านจิตใจ ชาวพุทธที่เหลืออยู่ ก็หันไปหาความเชื่อและลัทธิพิธีแบบตันตระ

สัมพันธไมตรี จีน-อินเดีย  

พ.ศ. 1184 (ค.ศ. 641) คงสืบเนื่องจากการที่ทรงสนิทสนมโปรดหลวงจีนเหี้ยนจัง พระเจ้าหรรษะได้ทรงส่งราชทูตไปประจำราชสำนักจีน สถาปนาสัมพันธไมตรีระหว่างอินเดียกับจีนเป็นครั้งแรก

พ.ศ. 1184 (ค.ศ. 641) กษัตริย์ธรุวภัฏแห่งราชวงศ์ไมตรกะ ที่เมืองวลภี ซึ่งรบพ่ายแพ้ต่อพระเจ้าหรรษะ ได้มาเป็นพระกนิษฐภาดาเขย

หรรษะถูกลอบปลงพระชนม์  

พ.ศ. 1190 (ค.ศ. 647) พวกพราหมณ์ที่รับราชการในราชสำนัก ขัดเคืองว่าพระเจ้าหรรษะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา จึงคบคิดกันปลงพระชนม์ ครั้งแรกไม่สำเร็จ และทรงอภัยหรือไม่ลงโทษรุนแรง คนพวกนี้จึงทำการร้ายใหม่อีก โดยปลงพระชนม์สำเร็จเมื่อครองราชย์ได้ 41 ปี ปราชญ์ถือว่าเป็นอวสานแห่งมหาอาณาจักรพุทธสุดท้ายของชมพูทวีป

(นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อพิจารณาว่า อินเดียยุคก่อนมุสลิมเข้ามา มีราชายิ่งใหญ่ที่สุด 3 พระองค์ คือ อโศก กนิษกะ และหรรษะ ซึ่งล้วนเป็นกษัตริย์ชาวพุทธทั้งสิ้น)

อนึ่ง พวกพราหมณ์ก่อการได้สถาปนาพราหมณ์ปุโรหิตเก่าของพระเจ้าหรรษะขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่าอรุณาศวะ

ราชทูตจีน จับกษัตริย์อินเดีย 

ครั้งนั้น พระเจ้าถังไทจงได้ส่งราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระเจ้าหรรษะ แต่คณะทูตมาถึงเมื่อสิ้นรัชกาลแล้ว กษัตริย์องค์ใหม่ได้ให้ทำร้ายคณะทูต ตัวราชทูตหนีไปได้แล้วรวมกำลังหนุนจากทิเบต เนปาลและอัสสัม มาบุกเมืองกันยากุพชะ จับกษัตริย์อรุณาศวะ กับทั้งบุตรภรรยาไปเป็นข้าในราชสำนักที่เชียงอาน

หลวงจีนอี้จิง ตามหลังเหี้ยนจัง  

พ.ศ. 1223-1238 (ค.ศ. 680-695) หลวงจีนอี้จิง (I-ching หรือ I-tsing) จาริกทางเรือมาถึงชมพูทวีป ได้เล่าเรียนที่นาลันทา พำนักอยู่ 15 ปี จึงเดินทางกลับเมืองจีน

ขามา ท่านออกจากกวางตุ้ง เดินทาง 20 วัน ถึงอาณาจักรศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ. 1214 (ค.ศ. 671; นี้คือครั้งแรกที่ศรีวิชัยได้รับการกล่าวถึงในเอกสารประวัติศาสตร์) แวะที่นั่นระยะหนึ่งแล้ว จึงเดินทางต่อไปยังชมพูทวีปโดยกษัตริย์แห่งศรีวิชัยได้ทรงอุปถัมภ์ด้วย

บันทึกทั้งของหลวงจีนเหี้ยนจังและหลวงจีนอี้จิง ได้กล่าวถึงมหาวิทยาลัยวลภีด้วย ท่านแรกมาเยือนวลภีใน พ.ศ. 1182 เล่าว่า วลภีมีสังฆาราม (วัด) เกินร้อย มีพระสงฆ์หีนยาน 6,000 รูป ส่วนใหญ่ศึกษาทางหีนยาน ต่างจากนาลันทาที่ชำนาญทางมหายาน ส่วนหลวงจีนอี้จิงกล่าวได้ความว่า วลภีีกับนาลันทายิ่งใหญ่พอกัน นาลันทาในแดนมัชฌิมฉันใด วลภีในแดนประจิมก็ฉันนั้น

ทมิฬแห่งอินเดียใต้  กับศรีวิชัย  

ในฐานะที่อาณาจักรศรีวิชัยอยู่ใกล้ชิด ได้ติดต่อและสื่อรับความเจริญจากชมพูทวีป จึงควรทราบเรื่องของดินแดนในชมพูทวีปส่วนที่ใกล้ชิดหรือติดต่อเกี่ยวข้องคู่ไปด้วย เฉพาะอย่างยิ่งอินเดียใต้หรือแดนทมิฬ (ส่วนอินเดียตะวันออกแถบเบงกอล ซึ่งมีเมืองท่าออกสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยเฉพาะยุคท้ายๆ คืออาณาจักรปาละและเสนะ ได้พูดไว้ต่างหาก) ทั้งนี้จะต้องเล่าเรื่องย้อนหลังบ้าง เพื่อเชื่อมความเข้าใจให้เห็นชัด

ได้กล่าวแล้วว่า ในชมพูทวีปตอนล่าง ต่อจากดินแดนของชนชาวอันธระลงไป (เทียบยุคเริ่มแกะสลักถ้ำอชันตา คือถัดจากอาณาจักรสาตวาหนะลงไปทางใต้) จนตลอดถึงปลายแหลมสุดประเทศอินเดีย เป็น “ทมิฬกะ” (ดินแดนของชนชาวทมิฬ) 3 อาณาจักร คือ ปาณฑยะ (Pandya ใต้สุด) โจฬะ (Cola หรือ Chola เหนือขึ้นมาต่อกับอันธระ) และเจระ หรือเกราละ (Cera, Chera หรือ Kerala ทอดจากเหนือลงสุดใต้ตามชายทะเลฝั่งตะวันตกเคียงไปกับ 2 อาณาจักรแรก)

อาณาจักรเหล่านี้มีอยู่แล้วในสมัยพระเจ้าอโศกฯ จึงเก่าแก่กว่าสาตวาหนะ ที่เป็นดินแดนของชาวอันธระ ซึ่งครั้งนั้นยังรวมอยู่ในจักรวรรดิอโศก

เจระนั้น มีเรื่องราวเหลือมาน้อยยิ่ง จนในประวัติศาสตร์ทั่วไปไม่กล่าวถึง ส่วนปาณฑยะ และโจฬะ ระยะแรกก็มีความเป็นมาที่รู้กันกระท่อนกระแท่น เช่น ในจารึกและวรรณคดีเก่าๆ ของท้องถิ่นบ้าง ในบันทึกการเดินเรือค้าขายของพวกกรีกและโรมันบ้าง และโดยเฉพาะในพงศาวดารลังกา ที่ชาวทมิฬ ทั้งโจฬะ และปาณฑยะ (บาลีเรียกว่า ปัณฑุ หรือ ปาณฑิยะ) เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการสงครามและการยึดครองดินแดน

ทมิฬ กับลังกา มีเวรกันมายืดยาว  

โดยเฉพาะหลัง พ.ศ. 950 มาแล้ว ในลังกามีการพิพาทแย่งชิงราชสมบัติกันเอง แต่ละฝ่ายก็ขอกำลังจากทมิฬที่เป็นพวกมาช่วยบ้าง กษัตริย์ทมิฬยกทัพมารุกรานและครอบครองบ้าง กษัตริย์ทมิฬฝ่ายโจฬะกับฝ่ายปาณฑยะรบกัน ฝ่ายหนึ่งขอกำลังจากสิงหฬข้ามทะเลไปช่วยรบในแดนทมิฬบ้าง

ความเป็นไปในระยะแรกของปาณฑยะ และโจฬะ ก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า นอกจากการรุกรานเกาะลังกา การรบราแข่งอำนาจกันเองระหว่าง 2 อาณาจักร และการค้ากับกรีก โรมัน และจีน ที่พอจะพบหลักฐานบ้างแล้ว ก็แทบไม่มีเรื่องราวอื่นปรากฏ

ทมิฬยังเฉา คราวมีอาณาจักรใหญ่ทางเหนือ  

ครั้นต่อมา ในดินแดนเหนือขึ้นไปในทักษิณาบถ เมื่อสาตวาหนะสลายลงใน พ.ศ. 743 (บางตำราว่า พ.ศ. 768/ค.ศ. 225) แล้ว มีอาณาจักรใหม่ๆ เกิดขึ้น นอกจากวากาฏกะที่อยู่ค่อนไปข้างบนแล้ว ที่ใต้ลงมาชิดแดนทมิฬและเด่นมาก คือ ปัลลวะ และจาลุกยะ เมื่อแรกสองอาณาจักรใหม่นี้รุ่งเรือง แดนทมิฬก็ยังเงียบเฉา

ปัลลวะ นั้น เมื่อสาตวาหนะเสื่อม ก็ตั้งอาณาจักรขึ้นมาที่กัญจี หรือกัญจีปุรัม (Kanchipuram) เมื่อราว พ.ศ. 768 (ค.ศ. 225) แล้วเรืองอำนาจขึ้นมาจนกระทั่งราว พ.ศ. 1150 (ค.ศ. 600 เศษ) ก็ปกครองดินแดนกว้างขวางมาก รวมทั้งอาณาจักรทมิฬด้วย

ส่วนจาลุกยะก็คือผู้กำจัดวากาฏกะลง มีเมืองหลวงอยู่ที่วาตาปีปุระ เริ่มแต่ พ.ศ. 1086 (ค.ศ. 543) ต่อมาเสียเมืองแก่พวกราษฏรกูฏใน พ.ศ. 1300 (ค.ศ. 757) แล้วตั้งวงศ์ขึ้นใหม่อีกเมื่อราษฏรกูฏสิ้นอำนาจใน พ.ศ. 1300 (ค.ศ. 975) เรียกว่าจาลุกยะตะวันตก

ในราว พ.ศ. 1300 (ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8) นั้น ปัลลวะเสื่อมอำนาจลง ปาณฑยะและโจฬะก็เป็นอิสระและรุ่งเรืองต่อมา

ปาณฑยะ และโจฬะ จะลับหรือโรจน์ การค้าก็รุ่ง  

ตลอดเวลาทั้งหมดนี้ การค้าทางทะเลระหว่างประเทศก็ดำเนินสืบต่อเรื่อยมา แต่มีความเปลี่ยนแปลง คือ การค้ากับด้านโรมันสะดุดหยุดไป (จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายเมื่อ พ.ศ.
1019/ค.ศ. 476) จากนั้นอินเดียได้หันมาค้าขายกับอาเซียอาคเนย์ ส่วนการค้าขายกับอาหรับและจีนก็ยังดำเนินต่อมา

คงสืบเนื่องจากกิจกรรมการค้าขายที่เฟื่องฟูขึ้นในแถบนี้ อาณาจักรใหม่ซึ่งมีชื่อว่าศรีวิชัยจึงได้เกิดขึ้น

โดยเฉพาะ รัชกาลของพระเจ้าราเชนทรที่ 1 (พ.ศ. 1555-1587/ค.ศ. 1012-44) เป็นช่วงเวลาที่โจฬะเรืองอำนาจสูงสุด ราเชนทรที่ 1 สืบงานพิชิตต่อจากพระราชบิดา นอกจากครองปาณฑยะและเจระ ตีดินแดนรายรอบและขึ้นเหนือไปถึงแม่น้ำคงคา ชนะกษัตริย์ปาละ แทบจะรวมอินเดียทั้งหมดแล้ว ยังเป็นเจ้าทะเลแถบนี้ ทั้งแผ่ขยายดินแดนไปถึงอาเซียอาคเนย์ และควบคุมเส้นทางการค้า ทำให้การพาณิชย์ย่านนี้กระทั่งกับจีนดำเนินไปอย่างเข้มแข็งจนตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 11

ชมพูทวีป ได้ผู้นำใหม่  

พ.ศ. 1293 (ค.ศ. 750) หลังจากสิ้นพระเจ้าหรรษวรรธนะแล้ว ชมพูทวีประส่ำระสายนานเกือบ 1 ศตวรรษ ศูนย์อำนาจกระจัดกระจาย ครั้นถึงประมาณ พ.ศ. 1293 ทางด้านตะวันออก ในภาวะที่บ้านเมืองไร้ขื่อแป ประชาชน (คนส่วนใหญ่ในแถบนี้เวลานั้นถือได้ว่าเป็นชาวพุทธ) ได้ประชุมกันเลือกผู้นำท้องถิ่นคนหนึ่งชื่อ โคปาละขึ้นเป็นกษัตริย์ของตน

โคปาละ ซึ่งเป็นชาวพุทธ แต่ในระบบของพราหมณ์เป็นคนวรรณะศูทร ได้ตั้งราชวงศ์ปาละขึ้น ในแถบรัฐพิหาร และเบงกอลในปัจจุบัน (คลุมดินแดนที่เคยเป็นของราชาศศางกะด้วย)

กษัตริย์องค์ที่ 2 ได้ขยายดินแดนไปถึงกันยากุพชะ และตั้งเมืองหลวงที่ปาฏลีบุตร

ปาละ ราชวงศ์พุทธสุดท้าย  

ราชวงศ์ปาละ ซึ่งล้วนเป็นกษัตริย์ชาวพุทธ ได้ส่งเสริมการศึกษาศาสนา ศิลปวิทยาและวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ราชาองค์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 10 ได้ตั้งมหาวิหาร คือมหาวิทยาลัยใหม่ขึ้น พระองค์ละ 1 แห่ง คือ โอทันตปุระ (ราว พ.ศ. 1288) วิกรมศิลา (พ.ศ. 1353) โสมปุระ (พ.ศ. 1363) และชคัททละ (พ.ศ. 1633)

ปาละ+สถานศึกษา นำวิทยาสู่ศรีวิชัย  

มหาวิทยาลัยเหล่านี้เจริญตามแบบอย่างของนาลันทา ซึ่งอยู่ไม่ไกล (โอทันตปุระอยู่ห่างนาลันทาเพียง 6 ไมล์)

ตลอดยุคปาละ (จบราว พ.ศ. 1663/ค.ศ. 1120) นี้ วิทยาการและศิลปวัฒนธรรมในนามแห่งพระพุทธ-ศาสนา ได้แพร่จากชมพูทวีปไปยังศรีวิชัย ตามเส้นทางการค้าขาย

ยุคมุสลิมเข้าครอง

ระลอกที่ 1  มุสลิมอาหรับ

มุสลิมอาหรับทำลายมหาวิทยาลัยวลภี  

พ.ศ. 1318 (ค.ศ. 775) ชนมุสลิมอาหรับ ที่มาครองแคว้นสินท์ตั้งแต่ พ.ศ. 1255 (ค.ศ. 712) ยกทัพมาทางเรือเข้าตีเมืองวลภี สังหารพระเจ้าศีลาทิตย์ที่ 6 ล้มราชวงศ์ไมตรกะ และทำลายล้างพระนครพินาศลงโดยสิ้นเชิง

โดยการโจมตีของชนมุสลิมอาหรับ ที่ทำลายเมืองวลภีนั้น มหาวิทยาลัยวลภีก็ได้ถูกทำลายลงด้วย เป็นมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรกที่ถูกทำลาย (ถ้าไม่นับตักสิลา) และพินาศอย่างไม่เหลือแม้แต่ซาก

นาลันทายังอยู่ แต่แพร่ตันตระ  

มหาวิทยาลัยนาลันทา และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ของปาละ แม้จะยังคงอยู่ แต่ในด้านการศึกษาพุทธศาสนา ถือได้ว่าเกิดความเสื่อมโทรมภายใน โดยเฉพาะความนิยมลัทธิตันตระกำลังแผ่ครอบงำ

เวลานั้น นาลันทากลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ และมีการปฏิบัติตามลัทธิพิธีของตันตระ ดังนั้น ตันตระ (รวมทั้งไสยศาสตร์) จึงเฟื่องฟูไปทั่ว

อนึ่ง ในช่วงเวลานี้ กษัตริยทิเบตได้นิมนต์พระอาจารย์จากนาลันทาไปสอนและนำชาวพุทธในทิเบต เริ่มแต่พระศานตรักษิต ต่อด้วยพระปัทมสัมภวะ (ไปใกล้ๆ กัน องค์หลังไป พ.ศ. 1290=ค.ศ. 747) และในช่วงต่อมา ก็ได้พระอาจารย์จากมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เหล่านี้ด้วย ที่เด่นมากคือ พระอตีศะ หรือ ทีปังกรศรีชญาณ แห่งวิกรมศิลา ซึ่งไปทิเบต ประมาณ พ.ศ. 1600

ปาละ กับทิเบต และศรีวิชัย  

ราชวงศ์ปาละติดต่อกับทิเบต และโดยเฉพาะทั้งการค้าและการพระศาสนา กับอาณาจักรศรีวิชัยมาก มหาวิทยาลัยนาลันทา และวิกรมศิลา ก็มีบทบาทสำคัญในทางไมตรี เมื่อถึงตอนนี้ การติดต่อกับเมืองจีนจึงลดลงไป ย้ายมาสนใจด้านทิเบต ศรีวิชัย ตลอดถึงประเทศทั้งหลายในอาเซียอาคเนย

นอกจากการศึกษา พระศาสนา และพาณิชย์ ศิลปะแบบปาละ อันสืบเนื่องจากพระพุทธศาสนา ก็แพร่ความนิยมออกไปด้วย เช่น การหล่อพระพุทธรูปและเทวรูปต่างๆ พระบูชาขนาดย่อม และการวาดภาพพุทธประวัติบนใบลาน

อินเดียค่อยสงบได้ ในยุคแบกแดด  

พ.ศ. 1305-1598 (ค.ศ. 762-1055) เป็นยุคกาหลิฟ วงศ์แอบบาสิด ที่แบกแดด ซึ่งมุสลิมอาหรับยังเรืองอำนาจต่อเนื่องสืบมาตั้งแต่ยุคกาหลิฟที่มะดีนะฮ์และที่ดามัสกัส

แต่เนื่องจากกาหลิฟที่แบกแดดหันมาสนใจด้านศิลปวิทยา อีกทั้งมีภาระและปัญหาใกล้ตัวที่ต้องจัดการ จึงทำให้ชมพูทวีปค่อยสงบเพลาจากสงครามเกือบตลอดยุคแบกแดดนั้น

อาหรับหยุด เตอร์กจะเริ่มบุก  

แต่ความสงบคงอยู่ได้ไม่นานนัก พอถึงกลางยุคแบกแดดนั้น พวกชนชาติข้างเคียงชมพูทวีปทางด้านพายัพ ที่ได้รับอิสลามจากมุสลิมอาหรับ โดยเฉพาะมุสลิมเตอร์ก ก็เริ่มขยายอำนาจแผ่อิสลามแทนมุสลิมอาหรับ ยุคแห่งสงครามจึงจะเริ่มขึ้น

(อินเดียจะเป็นสนามรบรับศึกเตอร์กตั้งแต่ พ.ศ. 1544 คืออีกราว 200 ปีข้างหน้า)

ศังกราจารย์ ที่ฮินดูด้วยกันก็ระแวง  

พ.ศ. 1331-1363 (ค.ศ. 788-820) ช่วงชีวิตของศังกราจารย์ ปราชญ์ฮินดู นิกายไศวะ ผู้ตั้งลัทธิอทไวตเวทานตะ และมุ่งมั่นกำจัดพระพุทธศาสนา แต่โดยพื้นฐานเดิม เป็นที่ยอมรับกันว่าอาจารย์ของอาจารย์ของเขาได้หลักความคิดไปจากพุทธศาสนามหายาน และตัวเขาเองก็ถูกปราชญ์ฝ่ายฮินดูด้วยกันเรียกว่าเป็น “ปรัจฉันน-เพาทธะ” คือ เป็นคนพุทธแอบแฝง (ทำนองว่า ที่โจมตีพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ก็เป็นปฏิกิริยาเพื่อแสดงว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องรับอะไรไปจากพุทธศาสนา)

ศังกราจารย์ กำจัดพุทธได้อย่างไร  

วิธีการของศังกราจารย์ในการกำจัดพระพุทธศาสนา ที่สำคัญ คือ เขาเที่ยวถกเถียงโต้วาทะไปทั่วทุกถิ่นเฉพาะนอกเมือง โดยไม่ยอมสอนคนในเมืองเลย เพราะเวลานั้นพุทธศาสนาแม้จะกำลังเสื่อม แต่ยังเข้มแข็งในเมือง

พร้อมนั้นก็ตีวงล้อมเมืองด้วยการจัดคณะนักบวชฮินดูขึ้น ทำนองเลียนแบบสังฆะในพระพุทธศาสนา โดยตั้งวัดใหญ่ขึ้นมาใน 4 ทิศ เรียกว่า “มัฐ” ตามอย่างวัดในพุทธศาสนาที่เรียกว่า “วิหาร” ซึ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษา

(ศาสนาพราหมณ์แต่เดิมมา ไม่มีคณะนักบวช เพราะพราหมณ์เป็นคนวรรณะสูงอยู่บ้านมีครอบครัว-ทรัพย์สมบัติ ดังที่ชาวบ้านรู้จักชูชก เป็นตัวอย่าง แม้ว่าใน

พระเวทจะมีคำว่าสังฆะบ้าง ก็หมายถึงการมาประชุมพบปะแต่ละครั้ง มิใช่เป็นการมีชีวิตชุมชนอย่างที่ศังกราจารย์ตั้งขึ้นแบบวัดที่ว่านี้)

รูปร่างเป็นพระ แต่ความรู้ไม่เป็นพุทธ  

เวลานั้น พระสงฆ์ในพุทธศาสนามากระจุกกันอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ปล่อยให้ชนบทถิ่นห่างไกลอ่อนแอ พระไม่มีความรู้ วัดฮินดูที่จัดตั้งโดยเน้นชนบทก็มีกำลังและได้รับความนิยม ถึงกับค่อยๆ เปลี่ยนหรือกลืนวัดพุทธไปเป็นวัดฮินดู (ดังมีหลักฐานชัดเจนซึ่งผู้นำฮินดูบอกเองว่าวัดฮินดูสำคัญบางแห่งในปัจจุบันนั้นเดิมเป็นวัดพุทธ)

นารายณ์อวตารแล้ว ศิวะอวตารก็มี  

นอกจากนั้น พวกไศวะสายศังกราจารย์คงได้ความคิดเรื่องนารายณ์ปางพุทธาวตาร-มายาโมหะ จากที่พวกนิกายไวษณพทำไว้ ในฐานะที่พวกตนเป็นปฏิปักษ์กับพวกไวษณพ ก็เลยสร้างเรื่องพระศิวะอวตารขึ้นมา ให้ตีทั้งพุทธศาสนาและตีลัทธิไวษณพไปพร้อมกัน

เขาแต่งความเป็นคัมภีร์ศังกรทิควิชยะว่า เหล่าเทพยดาได้มาร้องทุกข์ต่อองค์ศิวะพระอิศวรเป็นเจ้าว่า พระวิษณุได้เข้าสิงร่างของพระพุทธเจ้าแล้วดำเนินการให้ประชาชนดูหมิ่นพราหมณ์ รังเกียจระบบวรรณะ และละเลิกบูชายัญ ทำให้เหล่าเทพยดาไม่ได้รับเครื่องเซ่นสังเวย ขอให้พระองค์ช่วย พระศิวะจึงได้อวตารลงมาเป็นศังกราจารย์เพื่อกู้คำสอนของพระเวท ให้การบูชายัญและระบบวรรณะกลับฟื้นคืนมา

อนึ่ง นอกจากเที่ยวโต้วาทะแล้ว ศังกราจารย์ กับกุมาริละผู้ร่วมทำงานกำจัดพุทธศาสนา ได้เที่ยวชักจูงกษัตริย์และผู้มีกำลังทรัพย์กำลังอำนาจทั้งหลายให้เลิกอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนา

พุทธศาสนาอ่อนแรง รอวันถูกทำลาย  

ถึงระยะนี้ พุทธศาสนาอ่อนกำลังมากจนจะถูกกลืนเข้าไปในศาสนาฮินดู แม้แต่พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ก็ถูกยึดไปเป็นของวัดฮินดู ยังเหลือรุ่งเรืองอยู่ก็เฉพาะในเขตอำนาจของราชวงศ์ปาละ ซึ่งก็จะสูญสิ้นอำนาจในไม่ช้า

ถึงยุคของอาณาจักรทมิฬ โจฬะเรืองอำนาจ  ราว พ.ศ. 1400 (ในช่วง ค.ศ. 850-870) หันไปดูทางแดนทมิฬในอินเดียใต้ หลังจากอาณาจักรปัลลวะที่อยู่เหนือขึ้นไปได้เสื่อมอำนาจลงราว พ.ศ.1300 และ

อาณาจักรทมิฬ โดยเฉพาะปาณฑยะและโจฬะกลับมีกำลังขึ้นแล้ว อีกไม่ช้านัก อาณาจักรเหล่านี้ก็แย่งชิงแข่งอำนาจกัน

ถึงราว พ.ศ. 1400 พวกโจฬะเข้มแข็งถึงกับกำจัดพวกปัลลวะลง แล้วเริ่มเข้าครอบครอง และทั้งชนะเอาพวกปาณฑยะเข้ามารวมด้วยในช่วง พ.ศ. 1469-1485 (ค.ศ. 926-942) ตลอดจนพิชิตลังกาทวีปได้หมดในระยะ พ.ศ. 1557-87 (ช่วงค.ศ. 1014-1044) แต่รวมจาลุกยะ (ตะวันตก) เข้ามาด้วยไม่สำเร็จ เพราะรบแพ้ใน พ.ศ. 1597 (ค.ศ. 1054)

ต่อมา พ.ศ. 1613 (ค.ศ. 1070) โจฬะก็เลยไปรวมกับจาลุกยะ (ตะวันออก) ที่ตั้งมาแต่ปี 1168 (ค.ศ. 625) กลายเป็นราชวงศ์จาลุกยะ-โจฬะ ปล่อยให้จาลุกยะตะวันตกอยู่ต่อมาจนตกเป็นของอาณาจักรที่อยู่เหนือขึ้นไปมีพวกยาทพที่เทวคีรีเป็นต้น ใน พ.ศ. 1732 (ค.ศ. 1189)

ปาณฑยะขึ้นเป็นใหญ่ ในแดนทมิฬ  

ระหว่างนี้ พวกปาณฑยะได้แข็งเมืองเป็นอิสระออกไป แล้วก็กลับมารบชนะพวกโจฬะใน พ.ศ. 1800 (ค.ศ. 1257) และพอถึง พ.ศ. 1822 (ค.ศ. 1279) อาณาจักรโจฬะก็จบสิ้นลง

ในที่สุด ปาณฑยะ ซึ่งมีราชธานีอยู่ที่มทุรา (ปัจจุบันเรียกว่า Madurai แต่ในคัมภีร์บาลีรุ่นมหาวงส์เรียกว่า “มธุรา”) ก็เป็นอาณาจักรฝ่ายใต้ที่ยืนยงอยู่ได้ยั่งยืนที่สุด

พุทธศาสนาสูญสิ้นจากอินเดีย

ระลอกที่ 2 : มุสลิมเตอร์ก

เตอร์กทำสงครามไป ก็ปล้นไป  

พ.ศ. 1544-1569 (ค.ศ. 1001-1026) ในภาวะที่อินเดียแตกเป็นอาณาจักรเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีศูนย์รวมอำนาจยิ่งใหญ่ ทัพมุสลิมเตอร์กก็รุกเข้ามา

ครั้งนั้น สุลต่านมะหะหมัดแห่งฆาซนีปฏิญาณว่าจะรุกรบอินเดียเพื่ออิสลามหนหนึ่งทุกปีไป และได้ยกทัพเข้าตีเมืองต่างๆ ในอินเดียอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ครบทุกปีจริง ก็ได้ถึง 17 ครั้ง

การโจมตีมุ่งถล่มวัดสำคัญและเทวสถานใหญ่โต ทำลายรูปเคารพหรือ (ถ้าเป็นวัสดุถาวรใหญ่มาก) ทุบให้เสียรูปทรงแล้วยึดริบทรัพย์สินอันมหาศาล ขนไปเมืองฆาซนี เพื่อใช้ในการขับเคี่ยวทำสงครามในอาเซียกลาง และสร้างอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่

เตอร์กรุก อินเดียไม่อาจตั้งรับ  ยุทธการใหญ่ครั้งแรกใน พ.ศ. 1544 สุลต่านมะหะหมัดแห่งฆาซนียกทัพม้ามา 15,000 ส่วนฝ่ายอินเดีย กษัตริย์ฮินดูนามไชย์ปาลแห่งปัญจาบ ได้รับกำลังร่วมรบจากอาณาจักรอื่นๆ มีทัพม้า 12,000 ทัพช้าง 300 และทหารราบ 30,000 สู้รบกันที่ใกล้เมืองเปษวาร์ ฝ่ายอินเดียที่มีกำลังพลเหนือกว่ามากมาย ได้พ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทหารตายในที่รบ 15,000 คือเกือบครึ่งกองทัพ

ทัพหนึ่งที่ช่วยไชย์ปาลร่วมรบคือกษัตริย์นันทะ ซึ่งได้ตั้งอาณาจักรฮินดูราชวงศ์จันเทละขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1450-1500 และเป็นเจ้าของเทวสถาน ขชุรโห (Khajuraho) ที่สร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 1500 เศษ ซึ่งมีภาพแกะสลักคน-เทพเสพกามอันโด่งดัง ที่เวลานี้นักท่องเที่ยวนิยมไปทัศนาจรกันมาก

(เทวสถานขชุรโหนี้ เหลือรอดจากการทำลายของทัพมุสลิมเตอร์กมาได้ สันนิษฐานว่าเพราะสร้างไว้ที่ห่างไกล)

เตอร์กนำอิสลามสู่กลางใจอินเดีย  100

มถุราก็ถูกสุลต่านมะหะหมัดปล้นขนทรัพย์ไป แล้วเผาเมืองทิ้งใน พ.ศ. 1560-1 (หลังยุคนี้เมืองถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่ก็ถูกปล้นอีก 4 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2211 โดยออรังเซบ กษัตริย์ราชวงศ์โมกุล ที่ทำลายล้างวัดทั้งปวงหมดสิ้น)

สุลต่านมะหะหมัดแห่งฆาซนี ได้นามว่าเป็นผู้นำธงชัยแห่งอิสลามเข้าสู่กลางใจของอินเดีย

พ.ศ. 1601 – 1700

ปาละสิ้น เสนะคือสุดท้าย  

พ.ศ. 1613 (โดยประมาณ; ค.ศ. 1070) ทางตะวันออก ในดินแดนที่เป็นส่วนล่างของแคว้นเบงกอลปัจจุบัน มีราชวงศ์เสนะซึ่งเป็นฮินดู ตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นที่เมืองนาเทีย (Nadia ปัจจุบัน = นวทวีป/Navadwip/Nabadwip อยู่เหนือเมืองกัลกัตตาตรงขึ้นไปเพียง 90 กม. หรือจากปัตนะลงไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 410 กม.

ตอนแรกเสนะขึ้นต่ออาณาจักรปาละ แต่ต่อมาได้ตั้งตัวเป็นอิสระ และอีกไม่ช้า ราว พ.ศ. 1638 (ค.ศ. 1095) อาณาจักรพุทธของราชวงศ์ปาละก็สิ้นอำนาจ และราชวงศ์เสนะได้แผ่ขยายเข้าแทนที่ทั่วเบงกอล จนถึงพิหารตอนเหนือ

เสนะ ฟื้นฮินดูและระบบวรรณะ  103

พ.ศ. 1638 (ค.ศ. 1095) ราชวงศ์เสนะของฮินดู แผ่อำนาจเข้าแทนที่ราชวงศ์ปาละมากขึ้นๆ (ถือว่าปาละสิ้นเมื่อรามปาลสวรรคตใน พ.ศ. 1663) และได้ฟื้นฟูศาสนาฮินดู โดยเฉพาะทำระบบวรรณะที่ผ่อนคลายลงไปในสมัยพุทธของปาละให้กลับเข้มขึ้นมา

ราชวงศ์เสนะส่งเสริมสถาบันการศึกษาของฮินดูในเมืองหลวง ให้เป็นมหาวิทยาลัยนาเทียหรือนวทวีปที่รุ่งเรืองของฮินดู นาเทียศึกษาเน้นหนักทางตรรกศาสตร์และลัทธิตันตระแบบฮินดู ขณะที่มหาวิทยาลัยพุทธยุคนั้นรวมทั้งนาลันทาก็เน้นตันตระ จึงเป็นยุครุ่งเรืองของตันตระ (ซึ่งตามหลักฐานพบที่ทิเบตว่า เมื่อถูกทัพมุสลิมบุก ก็หวังจะเอาชนะมุสลิมด้วยเวทมนตร์)

นาเทียหรือนวทวีปนี้ ได้เป็นศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของฮินดู ดังมีสมญาว่าเป็น “พาราณสีแห่งเบงกอล”

พ.ศ. 1701 – 1800

สุลต่านใหม่ ใช้วิธีเก่า: รบมา ปล้นไป  

พ.ศ. 1716 (ค.ศ. 1173) มูฮัมหมัดแห่งฆูร์ หันมาบุกทางอินเดีย โดยในระยะแรกใช้วิธีการแบบสุลต่านมะหะหมัดแห่งฆาซนีเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน คือ ยกทัพมาถล่มเก็บกวาดทรัพย์หนหนึ่งๆ ทุกปี

ต่อมา เมื่อมูฮัมหมัดยึดละฮอร์ ล้มราชวงศ์ฆาซนาวิดลง ได้เป็นใหญ่ในอินเดียเหนือแล้ว แต่ทางด้านเมืองฆูร์ ยังมีภาระต้องจัดการกับเตอร์กกลุ่มอื่น ก็เลยมอบให้แม่ทัพชื่อกุตุบ-อุด-ดิน ดูแลด้านนี้ ส่วนตนเองไปรบด้านอาเซียกลาง

เริ่มยุคมุสลิมครองอินเดีย  

พ.ศ. 1749 (ค.ศ. 1206) กุตุบ-อุด-ดิน แม่ทัพทหารทาสของมูฮัมหมัดแห่งฆูร์ เที่ยวรบอยู่ในอินเดีย เมื่อเจ้านายสิ้นแล้ว ได้ประกาศตั้งตัวเป็นสุลต่านแห่งเดลี เริ่มราชวงศ์มุสลิมแรกที่ปกครองอินเดีย และเป็นราชวงศ์ทาส (แมมหลูก/Mamluk [Slave] dynasty) วงศ์แรก

รุก-ทำลายล้างง่ายๆ ไม่มีการต่อสู้  

ระหว่างนั้น แม่ทัพอีกคนหนึ่งของมูฮัมหมัดแห่งฆูร์ ชื่อ บักข์ติยาร์ ขัลยี (Bakhtiyar Khalji หรือ Iktiar Khilji) ได้ไปรุกรบในอินเดีย ภาคตะวันออก

บักข์ติยาร์ ขัลยี เป็นผู้ดำเนินการขั้นสุดท้ายในการกำจัดพระพุทธศาสนาให้หมดไปจากอินเดีย เป็นการรบทำลายล้างข้างเดียว โดยไม่มีการต่อสู้

พอยุคมุสลิมเริ่ม พุทธฯก็ร้าง  

พ.ศ. 1741-1750 (ค.ศ. 1198-1207) บักข์ติยาร์ ขัลยี หรือขิลยี ยกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาแถบพิหารและเบงกอล

เหตุการณ์ตอนนี้ ผู้เขียนประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเอง ได้บันทึกไว้ด้วยความภูมิใจว่า ขัลยีได้เผาทำลายอาคารสถานที่ ยึดเงินทองทรัพย์สิน และให้คนเลือกเอาระหว่างอิสลามกับความตาย โดยทำการทั้งหมดนั้นเพื่ออิสลาม

มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่งถูกทำลาย (โสมปุระถูกพราหมณ์ผู้ครองเมืองเผาไปก่อนแล้วใน พ.ศ. 1593) เฉพาะแห่งที่รู้เวลาชัดคือ โอทันตปุระถูกถล่มทำลายเผาราบ และวิกรมศิลาไม่เหลือแม้แต่ซากใน พ.ศ. 1741 ส่วนชคัททละถูกทำลายใน พ.ศ. 1750

เมื่อทัพมุสลิมเตอร์กประสบความสำเร็จในการรบ-ทำลาย ฆ่าคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาและพระภิกษุสงฆ์จนหมดสิ้น เผาวัด และกวาดขนเอาทรัพย์สินไป แล้วพระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นจากชมพูทวีป

เหลือแต่ฮินดู ยังสู้กับมุสลิมต่อไป  

เมื่อราชวงศ์มุสลิมของสุลต่านแห่งเดลีเริ่มต้นใน พ.ศ. 1749 แล้ว ก็ถือว่าประเทศอินเดียเข้าสู่ยุคการปกครองของมุสลิม

เรื่องราวของพระพุทธศาสนา ที่เจริญรุ่งเรืองในอินเดียมา 1741 ปี ก็จบไปแต่บัดนั้นขัลยีกวาดล้างดินแดนแถบแคว้นพิหารปัจจุบันในช่วง พ.ศ. 1741 เสร็จแล้วก็

เริ่มยุคมุสลิมครองอินเดีย  

พ.ศ. 1749 (ค.ศ. 1206) กุตุบ-อุด-ดิน แม่ทัพทหารทาสของมูฮัมหมัดแห่งฆูร์ เที่ยวรบอยู่ในอินเดีย เมื่อเจ้านายสิ้นแล้ว ได้ประกาศตั้งตัวเป็นสุลต่านแห่งเดลี เริ่มราชวงศ์มุสลิมแรกที่ปกครองอินเดีย และเป็นราชวงศ์ทาส (แมมหลูก/Mamluk [Slave] dynasty) วงศ์แรก

รุก-ทำลายล้างง่ายๆ ไม่มีการต่อสู้  

ระหว่างนั้น แม่ทัพอีกคนหนึ่งของมูฮัมหมัดแห่งฆูร์ ชื่อ บักข์ติยาร์ ขัลยี (Bakhtiyar Khalji หรือ Iktiar Khilji) ได้ไปรุกรบในอินเดีย ภาคตะวันออก

บักข์ติยาร์ ขัลยี เป็นผู้ดำเนินการขั้นสุดท้ายในการกำจัดพระพุทธศาสนาให้หมดไปจากอินเดีย เป็นการรบทำลายล้างข้างเดียว โดยไม่มีการต่อสู้

พอยุคมุสลิมเริ่ม พุทธฯก็ร้าง  

พ.ศ. 1741-1750 (ค.ศ. 1198-1207) บักข์ติยาร์ ขัลยี หรือขิลยี ยกกองทัพมุสลิมเตอร์กบุกเข้ามาแถบพิหารและเบงกอล

เหตุการณ์ตอนนี้ ผู้เขียนประวัติศาสตร์ชาวมุสลิมเอง ได้บันทึกไว้ด้วยความภูมิใจว่า ขัลยีได้เผาทำลายอาคารสถานที่ ยึดเงินทองทรัพย์สิน และให้คนเลือกเอาระหว่างอิสลามกับความตาย โดยทำการทั้งหมดนั้นเพื่ออิสลาม

มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่งถูกทำลาย (โสมปุระถูกพราหมณ์ผู้ครองเมืองเผาไปก่อนแล้วใน พ.ศ. 1593) เฉพาะแห่งที่รู้เวลาชัดคือ โอทันตปุระถูกถล่มทำลายเผาราบ และวิกรมศิลาไม่เหลือแม้แต่ซากใน พ.ศ. 1741 ส่วนชคัททละถูกทำลายใน พ.ศ. 1750

เมื่อทัพมุสลิมเตอร์กประสบความสำเร็จในการรบ-ทำลาย ฆ่าคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาและพระภิกษุสงฆ์จนหมดสิ้น เผาวัด และกวาดขนเอาทรัพย์สินไป แล้วพระพุทธศาสนาก็สูญสิ้นจากชมพูทวีป

เหลือแต่ฮินดู ยังสู้กับมุสลิมต่อไป  

เมื่อราชวงศ์มุสลิมของสุลต่านแห่งเดลีเริ่มต้นใน พ.ศ. 1749 แล้ว ก็ถือว่าประเทศอินเดียเข้าสู่ยุคการปกครองของมุสลิม

เรื่องราวของพระพุทธศาสนา ที่เจริญรุ่งเรืองในอินเดียมา 1741 ปี ก็จบไปแต่บัดนั้นขัลยีกวาดล้างดินแดนแถบแคว้นพิหารปัจจุบันในช่วง พ.ศ. 1741 เสร็จแล้วก็

รุกต่อลงไปทางเบงกอล ปีต่อมาก็เข้านาเทีย กษัตริย์ฮินดูลักษมณเสนหนีออกจากวังไปหลบซ่อนในวัดฮินดู ที่สุดก็สวรรคตใน พ.ศ. 1745 ราชวงศ์เสนะก็ถึงกาลอวสาน

แม้สุลต่านและแม่ทัพมุสลิมจะครองอินเดียภาคเหนือได้ในขั้นต้นนี้แล้ว ก็ยังมีภาระในการสู้รบปราบปรามพวกฮินดูที่แข็งข้อ และขับเคี่ยวกับมุสลิมด้วยกันไปอีกหลายร้อยปี จนจบลงด้วยการตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งอังกฤษในที่สุด

มหาวิทยาลัยฮินดู อยู่รอดได้  

อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่าทัพมุสลิมเตอร์กไม่ได้ทำลายมหาวิทยาลัยนาเทีย (นวทวีป) แต่นาเทียกลับได้เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่เจริญรุ่งเรืองในยุคที่มุสลิมปกครองต่อมาอีกหลายร้อยปี (พ.ศ. 1741-2300=ค.ศ. 1198-1757)

ที่เป็นอย่างนั้นอาจเป็นเพราะว่า นักรบมุสลิมเตอร์กมาถึงนาเทียเมื่อการรบเสร็จสิ้น ได้เวลาที่จะจัดการบ้านเมือง และผู้ปกครองมุสลิมเตอร์กได้รับรู้ว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายในชมพูทวีปเป็นเกียรติยศของอาณาจักร (ดังที่ในยุคที่ฮินดูมีอำนาจขึ้นแล้ว ราชวงศ์ฮินดูก็อุปถัมภ์บำรุงมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาในฐานะเป็นสถานศึกษา) จึงหันมาส่งเสริม

ตันตระ-ขชุรโหเติบโต อินเดียก็ถึงคราวตาย  

ควรตั้งข้อสังเกตไว้ศึกษากันต่อไปด้วยว่า ลัทธิตันตระ ที่ยกเอาเรื่องการเสพกาม ตลอดจนการดื่มสุราเมรัย ขึ้นมาทำให้มีความหมายเชิงปรัชญาและศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องเร้นลับ เวทมนตร์ ไสยศาสตร์ และพิธีกรรมมากมาย ซึ่งได้เจริญขึ้นๆ ในพุทธศาสนา และศาสนาฮินดู แล้วแข่งกันมา เริ่มแต่ประมาณ พ.ศ. 1200 จนฟูสะพรั่งในระยะที่พุทธศาสนาสูญสิ้นในช่วง พ.ศ. 1700 นั้น อาจเป็นพัฒนาการ (หรือหายนาการ) ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมอินเดียเวลานั้น

สภาพนั้นก็คือ การที่คนคงหันมาหมกมุ่นวุ่นวายด้านกามารมณ์กันมาก และอ่อนแอลง ดังตัวอย่างเทวสถาน ขชุรโห (Khajuraho) ดังกล่าวแล้วข้างต้น ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1500 เศษ ในอาณาจักรฮินดูของราชวงศ์จันเทละ ที่เข้าร่วมทำสงครามต้านพวกมุสลิมเตอร์ก และพ่ายแพ้อย่างยับเยินใน พ.ศ. 1544

หลังพุทธกาล

  1. ปี  ที่อินเดียไม่มีพุทธศาสนา
  2. มุสลิมครอง 6 ศตวรรษ

มชปหิต คั่นกลาง ต่อศรีวิชัย ก่อนเข้ายุคมุสลิม  

พ.ศ. 1836 (ค.ศ. 1293) เกิดจักรวรรดิมชปหิต กล่าวคือ หลังจากอาณาจักรของราชวงศ์ปาละ ที่เป็นแดนพุทธสุดท้ายในชมพูทวีป ถูกมุสลิมเตอร์กทำลายสิ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1663/ค.ศ. 1120 แล้วต่อมาอาณาจักรศรีวิชัย (อินโดยนีเซีย-มาเลเซีย) และพระพุทธศาสนาที่นั่น ก็เสื่อมตามไปด้วย โดยเฉพาะในระยะ พ.ศ. 1836 ได้มีอาณาจักรใหม่เกิดขึ้นในชวาตะวันออก อันเป็นอาณาจักรฮินดู มีชื่อว่าจักรวรรดิมชปหิต (Majapahit Empire) มิช้ามินานอาณาจักรฮินดูนี้ได้เรืองอำนาจขึ้นมาข่มให้ศรีวิชัยเลือนหายไป

อย่างไรก็ตาม มชปหิตก็เข้มแข็งอยู่ได้ไม่นาน เพียงราวศตวรรษเดียวก็ต้องสูญสิ้น เพราะนอกจากความวุ่นวายภายในแล้ว ถึงเวลานี้ดินแดนแคว้นเบงกอลในอินเดียได้ถูกชนมุสลิมเตอร์กเข้าครองแล้ว (ราชวงศ์เสนะสิ้น พ.ศ. 1745/ค.ศ. 1202)

เมื่อจัดบ้านเมืองเข้าที่แล้ว ถึง พ.ศ. 1800 เศษ ชาวมุสลิมจากเบงกอลก็มา เช่นเดียวกับชาวมุสลิมอาหรับจากอ่าวเปอร์เซีย ที่ค้าขายสืบกันมา ชาวมุสลิมเหล่านี้ได้มาตั้งเมืองตั้งอาณาจักรมุสลิมขึ้นตามชายฝั่งทะเลชวา และแผ่ศาสนาอิสลามออกไป พอถึง พ.ศ. 2000 เศษเล็กน้อย จักรวรรดิมชปหิตก็ถึงกาลอวสาน และชนมุสลิมก็ครอบครองดินแดนที่เป็นประเทศอินโดนีเซียหมดสิ้น

ย้อนทวนความ เส้นทางอิสลามสู่อินเดีย  

พ.ศ. 1837 (ค.ศ. 1294) เป็นปีเริ่มต้นแห่งการขยายอำนาจของชนมุสลิมเตอร์ก ลงสู่ทักษิณาบถ หรือ Deccan คือดินแดนส่วนล่าง หรือภาคใต้ของประเทศอินเดีย

ย้อนทวนความว่า หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าหรรษะหรือสีลาทิตย์ใน พ.ศ. 1190 (ค.ศ. 647) แล้ว อินเดียก็ระส่ำระสาย ประจวบพอดีว่าศาสนาอิสลามได้เกิดขึ้นที่อาหรับในตะวันออกกลาง แล้วแผ่ขยายมาอย่างรวดเร็ว
ก) ยุคมุสลิมอาหรับ

พอถึงปี 1193 (ค.ศ. 650 คือหลังพระศาสดามูฮัมมัดเสด็จสู่สวรรค์เพียง 18 ปี หลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าหรรษะ 3 ปี) กองทัพมุสลิมอาหรับก็บุกนำอิสลามขยายเข้ามาถึงบาลูจิสถาน (Baluchistan ในปากีสถาน) เข้าในเขตแห่งชมพูทวีป

ต่อมาปี 1255/712 แม่ทัพอาหรับอายุเพียง 20 ปี โดยความช่วยเหลือของคนฮินดูนักฉวยโอกาสที่มาเข้ากับศัตรู นำทัพมุสลิมเพียง 6,000 คน จากบาลูจิสถาน บุกเข้ามาบดขยี้และยึดครองแคว้นสินท์ได้หมด (Sind แคว้นล่างสุดเขตปากีสถานปัจจุบัน มีการาจีเป็นเมืองหลวง ติดแดนอินเดีย) มหาวิทยาลัยวลภีก็พินาศในยุคนี้

ในช่วงเดียวกันนี้ ระยะปี 1248-1258/705-715 ทัพมุสลิมอาหรับก็ได้บุกขึ้นไปปราบอาเซียกลาง นำประชากรแถบนั้นเข้าสู่อิสลาม

ฝรั่งบันทึกว่า ทัพมุสลิมอาหรับบุกถึงไหน ทัพอินเดียแม้จะมีกำลังพลเหนือกว่ามากมายก็ย่อยยับแหลกลาญและถูกสังหารอย่างผักปลาที่นั่น เพราะพวกฮินดู (รวมทั้งชาวพุทธ) มัวเพลินกับชีวิตที่สุขสบาย (กลายเป็นคนอ่อนแอและประมาท) แต่อาจเป็นเพราะอีกอย่างหนึ่งด้วย คือ ทัพมุสลิมยกมาแบบสายฟ้าแลบ คาดไม่ถึง และใช้วิธีฆ่าทำลายไม่เลือก แบบที่ฝ่ายอินเดียไม่คุ้นและตั้งรับไม่ทัน

ข) ยุคมุสลิมเตอร์ก

ต่อมามุสลิมอาหรับอ่อนกำลังลง และที่ศูนย์กลางหันไปเน้นงานด้านสงบ พวกเตอร์กในอาเซียกลางที่เป็นมุสลิมแล้ว ก็ยกกำลังออกขยายอำนาจแผ่และพิทักษ์อิสลามแทน

พ.ศ. 1749 (ค.ศ. 1206) หลังจากเข้าอินเดียภาคเหนือ เผาและฆ่ากราดไปทั่ว ซึ่งเป็นเหตุสุดท้ายให้พุทธศาสนาหมดสิ้นจากอินเดียแล้ว ก็เริ่มยุคสุลต่านแห่งเดลี ที่อินเดียภาคเหนือเป็นจักรวรรดิมุสลิม เหลือเจ้าฮินดูเพียงหย่อมเล็กหย่อมน้อยที่จะต้องปราบต่อไป

เตอร์กลงใต้ ขยายอำนาจในทักษิณาบถ  

จากนั้นอีกเกือบ 100 ปี พ.ศ. 1837 (ค.ศ. 1294) อาลา-อุด-ดิน ขัลยี (Ala-ud-din Khalji) สุลต่านแห่งเดลีนำทัพม้า 8,000 ไม่ต้องมีเสบียงเลย ออกจากอินเดียภาคเหนือ โดยมุ่งไปหาเงินทุนมาใช้จ่ายในบ้านเมืองและขยายกองทัพ ข้ามเทือกเขาวินธยะ เข้าสู่แดนทักษิณาบถ บุกตีเรื่อยไปในแดน Deccan ตลอดระยะทาง 800 กม. จบลงด้วยการพิชิตเมืองเทวคีรี ราชธานีของอาณาจักรยาทวะ (ยาทพ) ที่มีอำนาจเข้มแข็งที่สุดในอินเดียใต้ลงเสร็จในปี 1839 ได้ทุนทรัพย์มายังเดลีอย่างมากมายมหาศาลแม้จะได้ทรัพย์ไปมากมายและวางระบบเก็บภาษีขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สุลต่านแห่งเดลีก็ยังต้องการทุนทรัพย์เพิ่มอีก ดังนั้น หลังจากขยายดินแดนในภาคเหนือเสร็จไปอีกระยะหนึ่ง สุลต่านก็ยกทัพลงใต้อีก โดยมิใช่มุ่งไปครอบครองดินแดน แต่มุ่งขนเอาทรัพย์มาและปราบพวกกษัตริย์ฮินดูให้ยอมรับอำนาจเป็นเมืองขึ้น เพื่อส่งเครื่องราชบรรณาการมาให้เป็นประจำต่อไป

อาณาจักรทมิฬสิ้นอำนาจ เปลี่ยนเป็นของมุสลิม  

หันกลับไปดูดินแดนชาวทมิฬในอินเดียใต้ ที่อาณาจักรปาณฑยะได้มีชัยชนะอาณาจักรที่แข่งอำนาจกันมาทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 1822 และครองอำนาจสืบมา แต่เมื่อทัพมุสลิมเตอร์กลงมาอินเดียเหนือแล้ว พอถึงปี 1850/1310) กองทัพมุสลิมเตอร์กของสุลต่านแห่งเดลีก็รุกผ่านทักษิณาบถเข้ามา ตีเอาอาณาจักรปาณฑยะเข้าไว้ใต้อำนาจ

(สุลต่านแห่งเดลีปกครองปาณฑยะต่อมาจนกระทั่งอาณาจักรฮินดูสุดท้ายที่ตั้งตัวขึ้นมาได้ใหม่คือวิชัยนครเข้าครองแทนในปี 1921/1378 ก่อนที่จักรวรรดิวิชัยนครนั้นเองจะถูก 4 อาณาจักรมุสลิมรวมกำลังกันทำลายจบสิ้นไปในปี 2108/1565 แล้วดินแดนแถบนี้ทั้งปวงก็ตกเป็นของมุสลิมหมดสิ้น)

พอถึงปี 1852/1309 สุลต่านแห่งเดลีปราบอินเดียใต้ได้หมดแล้ว ก็สร้างมัสยิดไว้ที่แหลมโคโมริน (Cape Comorin) ซึ่งเป็นส่วนปลายใต้สุดของผืนแผ่นดินอินเดีย เป็นเครื่องหมายว่าประเทศอินเดียได้เป็นดินแดนของจักรวรรดิมุสลิมหมดสิ้นแล้ว

สุลต่านแห่งเดลี ใกล้สิ้นอำนาจ  

อย่างไรก็ตาม หลังจากสุลต่านอาลา-อุด-ดิน ขัลยีสิ้นชีพในปี 1859/1316 แล้ว ได้เกิดการแย่งชิงอำนาจ เกิดราชวงศ์ใหม่ และมีความวุ่นวายต่างๆ บางอาณาจักรก็แข็งเมือง อีกทั้งพวกมงโกลก็คอยมาตี จนสุลต่านถึงกับมาตั้งเทวคีรี (Devagiri=Daulatabad) ในภาคใต้เป็นเมืองหลวงที่ 2 ในปี 1870/ค.ศ. 1327 ทั้งเพื่อคุมภาคใต้ที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ไว้ และเพื่อตั้งหลักสู้กับพวกมงโกล จากที่มั่นซึ่งปลอดภัยจากศัตรู

อย่างไรก็ตาม อำนาจสูงสุดของสุลต่านแห่งเดลีคงอยู่ได้เพียงถึงปี 1878/1335 จากนั้นเมื่อเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นเรื่อยๆ สุลต่านก็ปราบไม่ไหว อาณาจักรต่างๆ ก็เป็นอิสระแยกออกไปๆ พอถึงปี 1894/1351 อินเดียภาคเหนือก็มีแต่กบฎให้ปราบ ภาคใต้ก็หลุดจากอำนาจ

ย้อนประวัติของวิชัยนคร  

โดยเฉพาะในภาคใต้นั้น ได้มีอาณาจักรฮินดูเกิดขึ้นใหม่ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีประวัติว่า เมื่อสุลต่านแห่งเดลีปราบอาณาจักรกัมปิลีลงในปี 1870/1327 แล้ว ได้นำตัวข้าราชการสองคนพี่น้อง ชื่อ หักกะ และพุกกะ หรือหริหระ และวีรพุกกะ ไปกรุงเดลี ให้เปลี่ยนศาสนาเป็นคนมุสลิมแล้ว ก็ส่งกลับมาปกครองกัมปิลี โดยเป็นเมืองขึ้นของสุลต่านแต่พอถึงปี 1879/1336 สองพี่น้องได้ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อเดลี และหันกลับไปเป็นฮินดู ตั้งอาณาจักรชื่อ “วิชัยนคร” ขึ้นมา ซึ่งเป็นดินแดนสุดท้ายที่ยืนหยัดรักษาอำนาจของฮินดูส่วนหนึ่งไว้ให้ยืนยงอยู่ท่ามกลางพลานุภาพของมุสลิม

ยืนยาวมาได้อีกกว่า 200 ปี

ส่วนทางด้านกรุงเดลี เหตุการณ์ยิ่งเสื่อมทรามลง จนในที่สุดก็ถูกพวกมงโกลเข้ามาทำลายแหลกลาญ

พ.ศ. 1901 – 2000

มงโกลมา-เดลีมอด  

ตีมูร์ลงมาจากอาเซียกลาง แผ่อำนาจไปในที่ต่างๆ แล้ว

พ.ศ. 1941 (ค.ศ. 1398) ตีมูร์ นำทัพมงโกลมาบุกทำลายล้างเดลีพินาศแหลกลาญ สังหารคนในเดลีไป 80,000 กำจัดสุลต่านแห่งเดลี

แม้เขาจะผ่านไป ไม่อยู่ยึดครอง ก็ทำให้ระบบสุลต่านแห่งเดลีอ่อนเปลี้ยป้อแป้

แต่นั้นมา สุลต่านแห่งเดลีก็นับได้ว่าถึงกาลอวสาน มีสถานะเหลืออยู่เพียงเป็นอาณาจักรหนึ่งที่แย่งชิงอำนาจกันกับอาณาจักรอื่นๆ ในอินเดียเหนือ

โปรตุเกสเปิดอินเดียแก่การหาอาณานิคม  

พ.ศ. 2040 (ค.ศ. 1497) วาสโกดากามา (Vasco da Gama) ชาวโปรตุเกส เดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป แล้วปีต่อมา 2041 ก็มาถึงอินเดีย ได้ชื่อว่าเป็นผู้เปิดถิ่นแดนตะวันออกแก่การค้าและการจับจองอาณานิคมของโปรตุเกส และเริ่มยุคแข่งแย่งการค้าและอาณานิคมระหว่างโปรตุเกส สเปน อังกฤษ และฝรั่งเศส อีกหลายศตวรรษ

อาณานิคมแรกของโปรตุเกส ในอินเดีย  

พ.ศ. 2053 (ค.ศ. 1510) กษัตริย์มานูเอล (Manuel) แห่งโปรตุเกสส่งกำลังมายึดเมืองท่าสำคัญๆ ตั้งแต่อ่าวเปอร์เซียจนถึงอินเดีย เป็นของตน ทำให้การค้าแบบเปิดจบสิ้นไป และในคราวนี้ที่อินเดีย โปรตุเกสได้ตั้งอาณานิคมที่กัว (Goa) เป็นศูนย์การค้า และแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

คิดจะสมาน ยิ่งเพิ่มการขัดแย้ง  

พ.ศ. 2063 (ค.ศ. 1520) คุรุนานักตั้งศาสนาสิกข์ ประสานศาสนาฮินดู กับอิสลาม (แต่กลายเป็นมีศาสนาอีก 1 ที่จะต้องมาขัดแย้งกันเพิ่มขึ้น)

ระลอกที่ 3. มุสลิมมงโกล

จบยุคสุลต่านแห่งเดลี เข้ายุคมุสลิมมงโกล  

พ.ศ. 2069 (ค.ศ. 1526) อาณาจักรสุลต่านแห่งเดลี (Delhi Sultanate) ของมุสลิมเตอร์ก ซึ่งตั้งขึ้นเป็นจักรวรรดิมุสลิมแรกของอินเดียเมื่อ พ.ศ. 1749 (ค.ศ. 1206) จนกระทั่งถูกตีมูร์ (Timur) ทำลายล้างในปี 1941 (ค.ศ. 1398) แล้วอ่อนเปลี้ยมานาน ได้ถึงกาลอวสาน ในปี 2069

ครั้งนั้น บาเบอร์ (Babur หรือ Baber; คำอาหรับ=เสือ) เจ้ามุสลิมมงโกล ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจงกิสข่าน และจากตีมูร์ อ้างสิทธิว่าอินเดียเป็นมรดกที่ตีมูร์ (Timur) บรรพบุรุษของเขาได้พิชิตไว้ แล้วยกทัพจากอัฟกานิสถาน เข้ามากำจัดสุลต่านแห่งเดลีให้สิ้นอำนาจไปโดยสิ้นเชิง

บาเบอร์ ตั้งราชวงศ์ใหม่ขึ้นในเดลี เริ่มครองจักรวรรดิโมกุล หรือมุข่าล (Mogul/Mughal Empire) ซึ่งยั่งยืนมาจน
อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษใน พ.ศ. 2401 (ค.ศ. 1858)

อาณาจักรฮินดูสุดท้าย  

พ.ศ. 2108 (ค.ศ. 1565) อาณาจักรฮินดูสุดท้าย ที่เหลืออยู่ในทักษิณาบถ คือ วิชัยนคร (Vijayanagar Empire) ถึงกาลอวสาน หลังจากยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางอำนาจคุกคามของอาณาจักรมุสลิมที่ล้อมรอบเป็นเวลา 229 ปี

จักรวรรดิวิชัยนครนี้มีเนื้อที่คร่าวๆ ขนาดใกล้เคียงกับอิรักในปัจจุบัน อยู่ส่วนล่างตลอดถึงปลายสุดของแผ่นดินอินเดีย เจริญรุ่งเรืองมาก มีการติดต่อค้าขายกับกรุงโรม โปรตุเกส ไปจนถึงจีน มีเมืองหลวงชื่อเดียวกันว่าวิชัยนคร ซึ่งชาวโปรตุเกสที่เดินทางมาได้เขียนบันทึกไว้ราวปี 2063 ว่าใหญ่โตอย่างกับโรม

(ดินแดนส่วนล่างของอินเดียนี้มีการติดต่อโดยเฉพาะทางการค้ากับโรมมานาน อย่างน้อยตั้งแต่ต้นคริสต์ศักราชในยุคอาณาจักรโจฬะ ดังที่ในทางโบราณคดีได้พบเหรียญกระษาปณ์ของโรมันมากมายในผืนแผ่นดินแถบนี้)

อวสานแห่งวิชัยนคร  

หลังจากสู้รบกับอาณาจักรข้างเคียงครองอำนาจมาได้ยาวนาน ในที่สุด ผ่านเข้ามาในยุคราชวงศ์โมกุล ถึงปี 2108 (ค.ศ. 1565) อาณาจักรมุสลิม 4 แคว้น คือ พิชาปุระ พีทร อาหหมัดนคร และกอลคอนดา ได้รวมกำลังกันเข้าตี เอาชนะวิชัยนครได้

ทั้งนี้ ผู้โจมตีมิได้ต้องการครอบครอง เพียงแต่จะทำลายอำนาจ เมื่อชนะแล้วจึงเข้าเผาทำลายบ้านเรือนทรัพย์สิน ไล่ฆ่าฟันผู้คนจนหมดสิ้น โดยใช้เวลารวม 5 เดือน แล้วปล่อยทิ้งให้เป็นที่รกร้างไร้ประโยชน์ไม่อาจฟื้นขึ้นได้อีก

มุสลิมครองสุดอินเดีย  

ถึงคราวนี้อำนาจของมุสลิมก็คลุมไปถึงสุดแผ่นดิน จดมหาสมุทรอินเดีย

กษัตริย์แห่งวิชัยนครได้หนีไปตั้งเมืองอยู่ในที่ใหม่ห่างออกไป และสืบราชย์กันมาอย่างไม่ราบรื่น จนกระทั่งปี 2215 (ค.ศ. 1672) กษัตริย์องค์สุดท้ายสวรรคต ก็สิ้นวงศ์

โมกุลเริ่มให้เสรีภาพทางศาสนา  

พ.ศ. 2124 (ค.ศ. 1581) อักบาร์ (Akbar) จักรพรรดิโมกุลองค์ที่ 3 ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในราชวงศ์ ซึ่งขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 2099/1556 เมื่อพิชิตขยายดินแดนได้มากมายแล้ว ก็พยายามสร้างความจงรักภักดี รวมคนโดยให้เสรีภาพทางศาสนา

นอกจากยกเลิกภาษีรายหัวคนไม่เป็นมุสลิมแล้ว ก็ถึงกับทรงยกเลิกการบังคับเชลยศึกให้นับถืออิสลาม ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงฮินดู เปิดให้เจ้าชายและเจ้านายฮินดูเข้ารับราชการ โดยเฉพาะพวกเจ้าราชบุตรได้ตำแหน่งสูงๆ

ยิ่งกว่านั้นยังทรงให้ผู้รู้ในศาสนาต่างๆ ทั้งมุสลิม ฮินดู เชน คริสต์ ปาร์ซี มาถกถ้อยทางศาสนาต่อเบื้องพระพักตร์ในพระราชวัง

ต่อมาถึงกับทรงประกาศให้พระองค์เองเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดสูงสุดในเรื่องราวปัญหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามเหนือกว่าศาสนบุคคลทั้งปวง

ศาสนาใหม่ของจักรพรรดิอักบาร์  

เฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 2124/1581 อักบาร์ได้ทรงตั้งหลักศาสนาใหม่ อันเน้นด้านจริยธรรมขึ้น โดยรวมคำสอนของศาสนาต่างๆ เข้าด้วยกัน เรียกว่า Din-e llahi (Divine Faith = ทิพยศรัทธา) และมีองค์อักบาร์เองเป็นศูนย์รวมแห่งความจงรักภักดี

แต่เรื่องนี้กลายเป็นการสร้างความไม่พอใจแก่ชาวมุสลิมที่เคร่งหลัก เกิดมีปฏิกิริยา บ้างก็บันทึกว่าพระองค์สร้างศาสนาใหม่ ละทิ้งอิสลาม แต่จะอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรียกว่าศาสนาใหม่ของอักบาร์ มีผู้นับถือเพียงไม่เกิน 19 คน และเมื่อสวรรคตในปี 2148/1605 ศาสนานั้นก็ดับลับไปด้วย

อีกครึ่งศตวรรษจากนี้ จักรพรรดิออรังเซบจะกำจัดฮินดูอย่างรุนแรง

ทัชมาฮาล อนุสรณ์รักตลอดกาล  พ.ศ. 2191 (1648) ทัชมาฮาล (Taj Mahal) ณ เมืองอัครา (Agra) ที่พระเจ้าชาฮ์ ชะฮาน (Shah Jahan) จักรพรรดิโมกุล สร้างเป็นอนุสรณ์ที่ฝังศพมเหสี มุมตัซ มาฮาล

(Mumtaz Mahal) ซึ่งสวรรคตเมื่อปี 2172 โดยเริ่มสร้างในปี 2173 ได้เสร็จสิ้นลง ใช้เวลาสร้าง 17 ปี 

(มุมตัซ สวรรคตเมื่อพระชนม์ 34 พรรษา ขณะที่ชาฮ์ ชะฮาน มีพระชนม์ 37 พรรษา หลังจากมีโอรสธิดา 14 องค์)

ชาฮ์ ชะฮานเตรียมการจะสร้างอนุสรณ์ที่ฝังศพของพระองค์ไว้เคียงคู่ทัชมาฮาล แต่เมื่อพระองค์ประชวรในปี 2200/1657 โอรสสี่องค์ได้ชิงอำนาจกัน

ออรังเซบชนะแล้วปลดราชบิดา ขึ้นเป็นจักรพรรดิเอง และขังพระเจ้าชาฮ์ ชะฮานไว้ในป้อมอัครา (Agra fort) จนสวรรคตในปี 2209/1666

โมกุลกำจัดฮินดูอีก  

พ.ศ. 2201 (1658) พระเจ้าออรังเซบ (Aurangzeb) ขึ้นครองราชย์ ขยายอาณาเขตออกไปได้กว้างที่สุดในยุคโมกุล แต่ได้มุ่งมั่นห้ำหั่นบีฑา (persecution) ชาวฮินดูและสิกข์ เป็นเหตุให้ราชวงศ์โมกุลสูญเสียอำนาจปกครองราษฎรลงไปมาก

ออรังเซบครองราชย์อยู่ 49 ปี เมื่อสวรรคตในปี 2250 แล้ว จักรวรรดิโมกุลได้แตกสลายอย่างรวดเร็ว ทั้งเพราะเกิดสงครามสืบราชสมบัติ ทั้งต่างประเทศรุกราน และแคว้นใหญ่น้อยก็ตั้งตัวเป็นอิสระ

พ.ศ. 2201 – 2300

ชาห์ตีเดลี ขนทรัพย์ไป  

พ.ศ. 2282 (ค.ศ. 1739) เนเดอร์ ชาห์ แห่งจักรวรรดิอิหร่าน ต้องการทุนทรัพย์จำนวนมาก จึงมาตียึดนครเดลีของโมกุลในปี 2282 แล้วขนเอาสมบัติมหาศาลไป รวมทั้งบัลลังก์นกยูง และเพชรโกอินัวร์ (Koh-i-noor diamond คือเพชร 109 กะรัตที่มาอยู่ในมงกุฎพระราชินีวิกตอเรีย ตลอดถึงกษัตริย์อังกฤษในบัดนี้) ช่วยให้งดเก็บภาษีในอิหร่านได้ถึง 3 ปี

ทัพชาห์ทำลายพระ  

อนึ่ง กองทัพของเนเดอร์ ชาห์นี้ เป็นผู้ทำลายพระพักตร์พระพุทธรูปใหญ่ 2 องค์ (สูง 53 และ 37 เมตร) ที่พามิยาน อันอยู่บนทางผ่านสู่เดลี ซึ่งต่อมาพวกทาลีบันได้ทำลายครั้งสุดท้ายหมดทั้งองค์ เมื่อต้นปี 2544

หลังพุทธกาล

  1. ปี ที่อินเดียไม่มีพุทธศาสนา
  2. ฝรั่งมา พุทธศาสนากลับเริ่มฟื้น

พ.ศ. 2301 – 2400

ค) ยุคอังกฤษปกครอง

อังกฤษชนะฝรั่งเศส ได้เบงกอล  

พ.ศ. 2300 (ค.ศ. 1757) อังกฤษกับฝรั่งเศส หลังจากแข่งอิทธิพลกันมานานเพื่อครองอำนาจในอินเดีย บริษัทอินเดียตะวันออก ของอังกฤษ (British East India Company) รบชนะบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส (French East India Company) ที่รวมกำลังกับกองทัพของกษัตริย์โมกุลแห่งอินเดีย

อังกฤษชนะแล้วได้อำนาจปกครองแคว้นเบงกอล

อังกฤษร่วมปกครองอินเดีย  

ต่อมาปี 2317/1774 บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ก็เข้าร่วมจัดการปกครองประเทศอินเดีย โดยมีวอร์เรน ฮาสติงส์ (Warren Hastings) เป็นข้าหลวงใหญ่อังกฤษคนแรก จากนั้นก็ขยายอำนาจออกไปเรื่อยๆ

อังกฤษสำรวจโบราณสถาน  

บุคคลเริ่มแรกสำคัญในด้านนี้ ที่จะเสริมความรู้ประวัติศาสตร์โลกโดยเชื่อมโยงตะวันตก-ตะวันออก ด้วยเรื่องการเดินทัพของอเลกซานเดอร์มหาราช กับอาณาจักรกรีก/โยนกในอาเซียกลาง คือ เซอร์ วิลเลียม โจนส์ (Sir William Jones) ผู้พิพากษาศาลฎีกาแห่งกัลกัตตา

ท่านผู้นี้ เมื่อปี 2317 ได้ร่วมกับแซมมวล จอห์นสัน (Samuel Johnson เป็นผู้ชำนาญงานพจนานุกรม) เร่งเร้าให้ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษ ที่ปกครองอินเดียเวลานั้น คือ วอร์เรน ฮาสติงส์ (Warren Hastings) ดำเนินงานสำรวจซากโบราณสถานและสืบค้นหาเมืองเก่าๆ ในอินเดีย จนกระทั่งต่อมาอีก 10 ปี ก็มีการตั้งอาเซียสมาคมแห่งเบงกอล

อังกฤษใฝ่ศึกษา ตั้งอาเซียสมาคม  

พ.ศ. 2327 (ค.ศ. 1784) นักปราชญ์นักศึกษาชาวตะวันตกได้ตั้งอาเซียสมาคมแห่งเบงกอลขึ้น เพื่อเป็นที่ให้ชาวยุโรปผู้สนใจศิลปวิทยาของอาเซียมาพบปะหาความรู้กัน โดยเฉพาะในเรื่องโบราณคดี เหรียญกระษาปณ์ และศิลาจารึกต่างๆ พร้อมทั้งวรรณคดีและต้นฉบับบันทึกทั้งหลาย

ทั้งนี้เกิดจากความดีพิเศษอันเป็นส่วนที่ควรยกย่องของชาวอังกฤษว่า แม้จะมีข้อเสียที่ไปมีเมืองขึ้น แต่นักปกครองและนักบริหารของอังกฤษแทบทุกคน เป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมากและมีความใฝ่รู้ยิ่งขึ้นไป

การที่อังกฤษมาปกครองอินเดีย เมื่อมองในแง่ผลดี ก็ทำให้เกิดการศึกษารู้เรื่องราวแต่โบราณ จนกระทั่งประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมของชมพูทวีปปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ดังเช่นความเป็นมาของพระพุทธศาสนาและเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราช ที่จมซ่อนอยู่ใต้ผืนแผ่นดินและจางหายไปหมดแล้วจากความทรงจำของชาวอินเดียเอง ก็ได้ปรากฏขึ้นมาใหม่ด้วยอาศัยการศึกษาค้นคว้าของชาวอังกฤษเหล่านี้

อังกฤษอ่านจารึกอโศกได้  

สมาชิกสำคัญคนหนึ่งของอาเซียสมาคมแห่งเบงกอลนี้ คือ เจมส์ ปรินเสป (James Prinsep; ช่วงชีวิต ค.ศ. 1799-1840) ได้เป็นเลขานุการของสมาคม ตั้งแต่ปี 2375 และเป็นบุคคลแรกที่เพียรพยายามอ่านตัวอักษรพราหมี และอักษรขโรษฐี จนอ่านศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชได้สำเร็จในปี 2380

เนปาลเสียเอกราช  

พ.ศ. 2357-2359 (ค.ศ. 1814-16) เกิดสงครามกูรข่า ซึ่งอังกฤษชนะแล้วผนวกเนปาลเข้ามาเป็นรัฐในอารักขา (protectorate; ได้เอกราชในปี 2466/1923)

พม่าหมดอิสรภาพ   พ.ศ. 2367-2369 (ค.ศ. 1824-26) สงครามพม่ารบอังกฤษครั้งแรก ต่อมาปี 2395 ก็มีสงครามครั้งที่ 2 แต่ละครั้งเสียดินแดนไปเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุดปี 2429/1886 พม่าก็กลายเป็นแคว้นหนึ่งในอินเดียของอังกฤษ จนมาได้เอกราชในปี 2491/ 1948

พ.ศ. 2401 – 2500

อินเดียเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ  

พ.ศ. 2401 (ค.ศ. 1858) เมื่ออังกฤษปราบอาณาจักรสิกข์ลงได้ในปี 2392/1849 แล้ว อังกฤษโดย บริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) ก็ได้ปกครองอินเดียหมดสิ้น แต่ต่อมาปี 2400 ทหารอินเดียทางภาคเหนือได้ก่อกบฎขึ้นแล้วราษฎรก็ร่วมด้วยขยายกว้างออกไป

เมื่ออังกฤษปราบกบฎเสร็จใน พ.ศ. 2401 ก็ยุบเลิกบริษัทอินเดียตะวันออกเสีย แล้วรัฐบาลอังกฤษก็เข้าปกครองอินเดียเองโดยตรง ให้อินเดียมีฐานะเป็นอุปราช-อาณาจักร คือเป็นเมืองขึ้นโดยสมบูรณ์

คันนิ่งแฮม ผู้ได้ทำคุณไว้ ในการฟื้นพุทธสถาน  

พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) อังกฤษตั้งหน่วยงานสำรวจโบราณคดีอินเดีย เรียกว่า Indian Archaeological Survey โดยมี เซอร์ อเลกซานเดอร์ คันนิงแฮม (Sir Alexander Cunningham) เป็นผู้อำนวยการคนแรก

ท่านผู้นี้มารับราชการทหารในอินเดียได้ 28 ปี ถึงปี 2404 ขณะเป็นพลตรี ก็ขอลาออก เพราะตั้งแต่ระยะแรกที่รับราชการทหาร เมื่อได้พบกับเจมส์ ปรินเสป ก็เกิดความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์อินเดีย และชอบศึกษาโบราณวัตถุทั้งหลาย จึงลาออกมาเพื่ออุทิศเวลาให้แก่การขุดค้นวัดวาอารามโบราณสถาน

ในปีที่ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว ก็ไปทำงานขุดฟื้นที่ตักสิลา (ก่อนหน้านี้ท่านได้ขุดค้นมาแล้วที่สารนาถ เมื่อปี 2380/1837 และที่สาญจีในปี 2393/1850 รวมทั้งทำการสำคัญในการขุดฟื้นพุทธคยา; ท่านเกิด ค.ศ. 1814 ได้เป็นเซอร์ ค.ศ. 1887 สิ้นชีพ ค.ศ. 1893)

อดีตอันรุ่งเรือง ที่ไม่เหลือแม้ร่องรอย  

ดินแดนชมพูทวีปที่พระพุทธศาสนาเคยรุ่งเรือง นับเฉพาะภาคเหนือ วัดตั้งแต่เบงกอลขึ้นไป ถึงบากเตรีย หรือจากแคว้นอังคะถึงโยนก เป็นระยะทางตัดตรงยาวราว 2,700 กิโลเมตร ตลอดช่วงเวลา 1,700 ปี เต็มไปด้วยมหาอาณาจักรต่างๆ มีปราสาทราชวัง อันใหญ่โตมโหฬาร และวัดวาอาราม สถานศึกษา มหาสถูป เจดีย์ ปูชนียสถาน ที่วิจิตรงดงาม มากมายสุดจะนับได้ แต่ในเวลาที่นักโบราณคดีเหล่านี้เริ่มขุดค้น แทบไม่มีร่องรอยอะไรเหลืออยู่เลยบนผืนแผ่นดิน

จากรายงานของนักสำรวจ: ความสูญสิ้นเพราะถูกทำลาย  

นักโบราณคดีเหล่านี้บันทึกไว้ว่า สถานที่และสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นสูญสิ้นไป

เพราะการทำลายของคน และเป็นการทำลายแบบแทบสิ้นซากสิ้นเชิง เช่นที่ Mr. Carllyle เขียนไว้ในรายงานการสำรวจโบราณคดี เล่ม 18 (Archaeological Survey Reports, vol.18) ว่า “พบกระดูกคนมากมาย และวัตถุที่ถูกไฟไหม้ดำเกรียมนานาชนิด อยู่ตามห้องชั้นนอกและประตูทางเข้าออกทั้งสองด้าน เป็นที่ชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาที่นี่ (ที่เมืองกบิลพัสดุ์) ได้ถูกทำลายล้างด้วยไฟและดาบ”

นักโบราณคดีอีกคนหนึ่งสำรวจอีกที่หนึ่งเขียนว่า “การขุดค้นทุกที่ทุกแห่งใกล้ๆ สารนาถ พบร่องรอยของไฟทั้งนั้น ตัวข้าพเจ้าเองก็พบไม้ที่ไหม้เกรียม และเมล็ดข้าวสารที่ไหม้ไฟดำไปครึ่งๆ ค่อนๆ” พันตรี คิตโต (Major Kittoe) เล่าสรุปว่า “ทุกแห่งถูกบุกปล้นและเผา ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ กุฏิวิหาร หรือพระพุทธรูปหมดไปด้วยกัน บางแห่ง กระดูกคนบ้าง เหล็กบ้าง ไม้บ้าง พระพุทธรูปบ้าง ฯลฯ ถูกเอามารวมสุมกันไว้เป็นกองมหึมา…”

การทำลายวัดใหญ่นี้คงต้องเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและไม่ได้คาดหมาย เพราะ พ.ต.คิตโต ได้พบซากเศษสิ่งของตามที่ต่างๆ ในลักษณะที่ทำให้มองเห็นเหตุการณ์ว่า เกิดไฟไหม้ชนิดที่คนจุดโหมเข้ามาฉับพลันทันใด ทำให้ภิกษุทั้งหลายต้องละทิ้งอาหารที่กำลังฉันอยู่ไปทันที

คันนิ่งแฮมคิดถึงใคร ที่มาเผา-ฆ่า  

นายพลคันนิ่งแฮมรู้สึกหงุดหงิดขุ่นเคือง เพราะจะไปที่ซากปรักหักพังของพุทธสถานที่ไหน ก็เจอกระดูกไหม้ดำและสิ่งที่บ่งบอกถึงการจุดไฟเผาทุกแห่งไป ใครหนอที่มาห้ำหั่นข่มเหงชาวพุทธผู้ไม่เบียดเบียนทำร้ายใคร ทำเหมือนอย่างที่ศาลไต่สวนศรัทธาของคริสต์ในสเปนได้ทำกับคนที่ถูกหาว่านอกศาสนา ตอนแรกนายพลคันนิ่งแฮมคงคิดว่าเป็นพวกพราหมณ์ เขาจึงใช้คำว่า “พวกพราหมณ์ใจร้าย” (malignant Brahmans) ต่อมาก็ชัดเจนว่าเป็นการกระทำของทัพมุสลิมเตอร์ก

แม้แต่ตั้งใจไปขุดฟื้น บางแห่งก็ทำไม่ได้  

สถูป เจดีย์ ปูชนียสถานทั้งหลายเป็นอันมาก เมื่อถูกทำลายลงไปแล้ว ชาวมุสลิมเตอร์กก็นำเอาวัสดุจากสถานที่ที่ทำลายไปแล้วนั้น มาใช้สร้างที่ฝังศพมุสลิม ดังที่นายพลคันนิ่งแฮมเขียนไว้ว่า “ทุกทิศของเมืองพิหารจะเห็นที่ฝังศพมัสซุลหม่าน (musulman เป็นคำเตอร์ก ตรงกับคำว่ามุสลิมของอาหรับ) ที่ขนาดย่อมก็สร้างด้วยอิฐ ขนาดใหญ่ก็สร้างด้วยก้อนหินที่สะกัดและแกะสลักแล้ว จากแหล่งสามัญของชาวมะหะหมัด คือ ซากสิ่งก่อสร้างของพุทธหรือพราหมณ์ที่ถูกทำลายลงไปแล้ว”

โดยเฉพาะที่ฝังศพมุสลิมมากแห่งก็สร้างซ้อนขึ้นไว้ข้างบน ทับสถานที่ซึ่งถูกทำลายไปแล้วนั้นเอง ทำให้ไม่สามารถจะไปขุดค้นดูอะไรได้ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางกั้นการขุดค้น

อนาคาริกธรรมปาละ ผู้นำการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดีย  

พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) อนาคาริก ธรรมปาละ (Anagarika Dharmapala) ชาวลังกา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2407= ค.ศ. 1864 ในตระกูลผู้ดีลังกาที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เดิมชื่อ David Hewavitharne

ต่อมา David ได้เรียนรู้จักพระพุทธศาสนาจากชาวอเมริกัน ชื่อ พ.อ. ออลคอตต์/Col. H.S. Olcott จึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และเมื่อได้รู้สภาพพระพุทธศาสนาที่ถูกเบียดเบียนต่างๆ จึงได้ตั้งปณิธานที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยครองตนเป็นอนาคาริกเพื่อให้ทำงานได้สะดวก และใช้ชื่อใหม่ว่า อนาคาริก ธรรมปาละ

ณ วันที่ 2 มกราคม 2434 หลังจากเยือนสารนาถ ธรรมปาละได้มาที่พุทธคยา เมื่อเห็นสภาพของอภิสัมพุทธสถานที่ถูกทอดทิ้งทรุดโทรมและตกอยู่ใต้การครอบครองของพวกนักบวชฮินดูที่เรียกว่ามหันต์แล้ว ได้ปฏิญาณต่อหน้าต้นพระศรีมหาโพธิ์ ว่าจะอุทิศชีวิตของตนเพื่อกู้พุทธสถานสำคัญนั้นกลับคืนขึ้นมาสู่ความเป็นทัศนียปูชนียสถานให้จงได้

ตั้งมหาโพธิสมาคมเป็นฐาน เริ่มงานฟื้นพุทธสถาน  

ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2434 นั้นเอง ก็ได้ตั้ง Maha Bodhi Society (มหาโพธิสมาคม) แห่งแรกขึ้นมาเป็นฐานในการทำงาน ให้ชื่อว่า Buddhagaya Maha Bodhi Society (พุทธคยามหาโพธิสมาคม แต่ตั้งขึ้นที่ลังกา) จากนั้นได้มุ่งมั่นทำงานเพื่อจุดหมายที่ตั้งไว้ ต้องเดินทางไปในประเทศต่างๆ มาก โดยเฉพาะไปเผยแผ่ธรรมในอเมริกา (แวะเมืองไทย ก.พ. 2437) ตลอดจนไปร่วมประชุมสภาศาสนาโลกที่ชิคาโกใน ก.ย. 2436 (the 1893 World’s Parliament of Religions in Chicago)

ต่อมาเริ่มจัดคณะไปนมัสการพุทธคยา และพุทธสถานอื่นๆ เป็นครั้งแรกในเดือน ธ.ค. 2437 แล้วในเดือน ก.พ. 2438 ได้นำพระพุทธรูปเข้าไปตั้งบูชาในพระเจดีย์พุทธคยา (พระพุทธรูปองค์นี้เป็นแบบญี่ปุ่น) แต่คนของฮินดูมหันต์ได้นำพระพุทธรูปนั้นออกมาทิ้งข้างนอก เรื่องเป็นความขึ้นศาลกัน และพยายามกันต่อมา จนใน ต.ค. 2444 แม้ชาวพุทธจะได้อิสรภาพในการเข้าไปบูชาในพระพุทธคยาเจดีย์ แต่องค์พระเจดีย์ก็ยังเป็นทรัพย์สินในความดูแลของฮินดูมหันต์กับรัฐบาล คณะของท่านธรรมปาละทำได้เพียงซื้อที่สร้างที่พักไว้ใกล้ๆ

ต่อมาไม่นานได้ซื้อที่เพื่อสร้างวิหารที่สารนาถ จนกระทั่งสร้างมูลคันธกุฏีวิหารเสร็จที่นั่นในปี 2473

อเมริกันชายนำเข้ามา อเมริกันหญิงช่วยทุนให้เดินหน้า  

การเพื่อพระศาสนาทั้งนี้ รวมทั้งการสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาลเพื่อการสงเคราะห์ควบคู่ไป ได้รับความร่วมมือจากชาวพุทธหลายแห่ง โดยเฉพาะบุคคลที่ช่วยเหลือโดยตลอดและมากที่สุดจนสุดท้ายตั้งเป็นกองทุน คือ เศรษฐินีชาวอเมริกัน ชื่อ Mrs. Mary Foster (กองทุนชื่อ Mary Foster Permanent Fund, ตั้งใน ก.ค. 2467)

แม้จะสิ้นชีพ ขอเกิดมาทำงานพุทธศาสนาต่อไป  

ต่อมา พ.ศ. 2474 อนาคาริก ธรรมปาละ ชราลง ได้บวชโดยมีนามว่า ศรี เทวมิตร ธรรมปาละ จากนั้นอีก 2 ปีก็ได้อุปสมบท (ตรงนี้ ผู้บันทึกลำดับเหตุการณ์ในประวัติเขียนไว้สับสนว่า ค.ศ. 1931: Ordained as a Bhikkhu… แล้ว ค.ศ. 1933: Received Higher Ordination. ทำให้สงสัยว่าเป็นการบันทึกผิดพลาด ครั้งแรกอาจบรรพชาเป็นสามเณร แล้วครั้งหลังอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือเป็นภิกษุแล้วบวชซ้ำแบบทำทัฬหีกรรม)

แต่เวลาผ่านมาเพียง 2 เดือนเศษ ณ 29 เม.ย. 2476 ท่านก็ถึงมรณภาพที่สารนาถ เมืองพาราณสี กล่าววาจาสุดท้ายว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดใหม่…ข้าฯ ขอเกิดอีก 25 ชาติ เพื่อเผยแพร่ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ปลูกเมล็ดพืชไว้ ผลเผล็ดให้ผู้อื่นชื่นชมต่อไป  

กาลล่วงมาถึง พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) หลังจากท่านธรรมปาละสิ้นชีพไปแล้ว 16 ปี งานที่ท่านเพียรทำไว้จึงสำเร็จบ้างบางส่วน เมื่อรัฐบาลรัฐพิหารออก พรบ.ศาสนสถานพุทธคยา (Buddha Gaya Temple Act) กำหนดให้การจัดการมหาโพธิเจดีย์เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยชาวฮินดูและชาวพุทธมีจำนวนฝ่ายละเท่ากัน

มหาโพธิสมาคมในอินเดีย มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองกัลกัตตา (Kolkata หรือ Calcutta) มีสาขาหลายแห่งหลายเมือง ออกวารสารชื่อ The Maha Bodhi

อนาคาริก ธรรมปาละ เป็นชาวพุทธผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป เป็นบุคคลที่ได้บำเพ็ญประโยชน์อย่างมากแก่พระพุทธศาสนา และแก่ชาวพุทธสมัยปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่มานมัสการสังเวชนียสถานคงจะอนุโมทนาอัตถจริยาเพื่อกู้พุทธสถานที่ท่านได้บำเพ็ญแล้ว

ปราชญ์อินเดียตื่นตัวตามฝรั่ง ตั้งสมาคมทางพุทธ  

พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) ปราชญ์ชาวอินเดียเกิดความตื่นตัวขึ้นจากแรงกระตุ้นที่ได้เห็นชาวตะวันตกศึกษาค้นคว้าพระพุทธศาสนากันจริงจัง จึงได้ตั้ง Buddhist Text Society (สมาคมพุทธศาสนปกรณ์) ขึ้นบ้างในเมืองกัลกัตตา

หลังพุทธกาล

800 ปี ที่อินเดียไม่มีพุทธศาสนา

  1. พุทธศาสนาฝ่ากระแสโลกาภิวัฒน์ ผ่านเข้าสหัสวรรษใหม่

ชมพูทวีปได้อิสรภาพ แต่ต้องแยกเป็นอินเดีย ปากีสถาน  

พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) ณ วันที่ 15 สิงหาคม หลังจากปกครองมานาน 200 ปี อังกฤษให้อิสรภาพแก่ดินแดนชมพูทวีป ซึ่งตกลงแบ่งแยกส่วนที่ประชากรข้างมากเป็นฮินดู ให้เป็นอินเดีย และส่วนที่ประชากรข้างมากเป็นมุสลิม ให้เป็นปากีสถาน พร้อมกันนั้น ต้องอพยพชาวมุสลิมจากอินเดียไปอยู่ในปากีสถานประมาณ 10 ล้านคน และอพยพชาวฮินดูจากปากีสถานไปอยู่ในอินเดียประมาณ 10 ล้านคน

พระเจ้าอโศกนำพระพุทธศาสนาเข้ามาไว้ในธงชาติอินเดีย  

ในปีนี้ (พ.ศ. 2490) ประเทศเอกราชใหม่คืออินเดีย ได้ตกลงนำวงพระธรรมจักรที่ทูนอยู่บนเศียรสิงห์ทั้งสี่เหนือยอดเสาศิลาจารึกแห่งสารนาถของพระเจ้าอโศกมหาราช มาสถิตเป็นตราที่ใจกลางธงชาติ และกำหนดให้รูปเศียรสิงห์ทั้งสี่หน้าที่ทูนวงพระธรรมจักรนั้น เป็นตราแผ่นดินของประเทศอินเดีย

ผู้ชู “อหิงสา” ถูกพิฆาตเพราะความกลัววิหิงสา 

พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ณ วันที่ 30 มกราคม มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi) ผู้นำในการกู้อิสรภาพของอินเดียด้วยวิธีการแบบอหิงสา (nonviolence) ถูกสังหารโดยชาวฮินดูที่หวั่นกลัวว่าแนวคิดและวิธีการของคานธีจะทำให้ศาสนาฮินดูฝ่ายของตนและอินเดียเสียเปรียบแก่ทางฝ่ายมุสลิมและปากีสถาน

นาลันทาใหม่ ตั้งขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์แห่งนาลันทาโบราณ  พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ที่อินเดีย รัฐบาลแห่งรัฐพิหารได้ตั้ง นวนาลันทา มหา

วิหาร ขึ้น ณ ที่ใกล้ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยนาลันทา คือนาลันทามหาวิหารเดิม เพื่อเป็นคารวานุสรณ์แห่งประวัติการณ์ทางการศึกษาอันเคยรุ่งโรจน์ในรัฐนี้ แต่ครั้งเป็นแคว้นมคธในอดีตกาล เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Nalanda Institute of Post-Graduate Studies and Research in Buddhist Learning and Pali (สถาบันบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านพุทธศาสน์และภาษาบาลีแห่งนาลันทา)

รัฐบาลอินเดียฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ได้อนุสรณ์ใหม่  

พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) รัฐบาลอินเดียจัด “พุทธชยันตี” ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (จัดก่อนไทย เนื่องจากอินเดียนับพุทธศักราชตามแบบลังกา ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 1 ปี) โดยเฉพาะได้เตรียมการต้อนรับพุทธชยันตีนั้นด้วยการบูรณะสังเวชนียสถานทั้ง 4 และพุทธสถานทุกแห่งเป็นการใหญ่ กับทั้งสร้างที่พักสำหรับผู้จาริกบุญไว้ในที่นั้นๆ 

พร้อมนั้น ได้เชิญชวนและให้โอกาสแก่ประเทศพุทธศาสนาทั้งหลายที่จะสร้างวัดของตนๆ ไว้ในที่ซึ่งจัดสรรให้ใกล้พุทธคยา ดังที่รัฐบาลไทยก็ได้สร้างวัดขึ้นด้วย คือ 

วัดไทยพุทธคยา” (Wat Thai Buddhagaya) และได้ส่งพระสงฆ์ไทยไปประจำตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา

งานอีกอย่างหนึ่งที่รัฐบาลอินเดียได้จัดทำ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก คือการจัดพิมพ์หนังสืออนุสรณ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอินเดีย เช่น 2500 Years of Buddhism และ The Way of the Buddha

พุทธศาสนาเริ่มฟื้นขึ้นมาในตัวคน 

พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) ดร.อัมเบดการ์ (Bhimrao Ramji Ambedkar, 1891-1956) คนวรรณะศูทร แต่เฉลียวฉลาดจบการศึกษาสูง ซึ่งได้เป็นรัฐมนตรียุติธรรม และเป็นผู้นำในการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียตั้งแต่ พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) จนได้สมัญญาว่าเป็น “สถาปนิกแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” (architect of the Indian constitution) เกิดความสิ้นหวังต่อระบบวรรณะของศาสนาฮินดู และเมื่อได้ใช้เวลาศึกษาเลือกเฟ้นอย่างจริงจังแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจละทิ้งศาสนาฮินดู และนำคนวรรณะศูทรประมาณ 2 แสนคน ประกอบพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะที่เมืองนาคปุร์ในเดือนตุลาคม 2499

เหตุการณ์นี้นับว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งการกลับฟื้นของพระพุทธศาสนาในอินเดีย แต่ตัว ดร.อัมเบดการ์ได้ถึงมรณกรรมใน พ.ศ. 2499 นั้นเอง

ชาวพุทธสาย ดร.อัมเบดการ์นี้ ซึ่งได้เพิ่มขยายจำนวนเป็นประมาณ 4 ล้านคนในเวลาไม่นาน เริ่มแรกโน้มมาทางพระพุทธศาสนาเถรวาท แต่ต่อมาได้จัดปรับพัฒนาจนมีวิถีทางที่เป็นลักษณะพิเศษของตน

ดร.อัมเบดการ์ ได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อยกฐานะคนวรรณะศูทร โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ได้ตั้งวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพุทธเพื่อสอนวิชาการต่างๆ เช่น สิทธารถวิทยาลัยทางนิติศาสตร์ เป็นต้น คนวรรณะศูทรเคารพบูชาท่านดุจเป็นพระโพธิสัตว์ หรือยิ่งเทพเจ้า

ทาลิบันขู่จะทำลายพระพุทธรูปใหญ่  

พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) เดือน เม.ย.-พ.ค. ชาวศรีลังการ่วมกับชาวพุทธทั่วโลกรวมทั้งมุสลิม เรียกร้องไม่ให้ทำลายพระพุทธรูปใหญ่ ที่พามิยาน ในอัฟกานิสถาน หลังจากพวกมุสลิมทาลิบัน (Taliban) ได้ขู่ว่าจะทำลาย

พระพุทธรูปใหญ่สลายเพราะทาลิบัน  

พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) พวกทาลิบันประกาศจะทำลายพระพุทธรูปและรูปเคารพทั้งหมดในอัฟกานิสถาน

ในเดือนมีนาคม (ตามข่าวกำหนดจะทำการในวันฮัจญ์ ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดประจำปีของชาวมุสลิม) พวกทาลิบันก็ได้ใช้ปืนใหญ่และวัตถุระเบิดทำลายพระพุทธรูปใหญ่ทั้ง 2 องค์ อายุราว 1700 ปี ซึ่งแกะสลักไว้ที่หน้าผา (สูง 53 และ 37 เมตร) ที่พามิยาน (Bamiyan หรือ Bamian) จนแหลกละเอียดหมดสิ้นไป

หลังพุทธกาล

ต่อจากกลางปีพุทธศักราช 2543

ชมพูทวีป ในปัจจุบัน  

พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) ชมพูทวีป เมื่อเทียบคร่าวๆ ว่าตรงกับดินแดนของ 4 ประเทศในปัจจุบัน คือ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน

(บังคลาเทศ ตรงกับแคว้นวังคะ หรือวังครัฐ ว่าโดยเคร่งครัด ไม่จัดเข้าในชมพูทวีป เพียงแต่อยู่ถัดจากแคว้นอังคะ หรืออังครัฐ ซึ่งอยู่ในชมพูทวีป แต่ในที่นี้ได้รวมเข้ามา เพราะอาณาจักรในชมพูทวีป อย่างสมัยพระเจ้าอโศกก็รวมถึงแคว้นนี้ด้วย และการกำหนดเขตที่ตั้งแคว้นโบราณนี้ตามที่ถือกันอาจจะยังยุติเด็ดขาดไม่ได้; คำว่า “วังคะ” แผลงเป็น พังคะ เขียนแบบโรมันเป็น Banga เป็นที่มาของคำว่า เบงกอล/Bengal และ Bangladesh ซึ่งถ้าเขียนเป็นไทยให้ถูกแท้ ต้องเป็น “พังคลเทศ”; ส่วนปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ก็พูดคร่าวๆ ว่า คือ คันธาระ และกัมโพชะ รวมทั้งโยนก โดยตัดส่วนที่อยู่ในอาเซียกลางออกไป)

ตามสภาพปัจจุบันของชมพูทวีป มีสถิติที่ควรทราบ (ตัวเลขโดยประมาณ จาก Microsoft Encarta Reference Library 2002 และ Encyclopaedia Britannica 2002) ดังนี้

1. อินเดีย (ชื่อทางการว่า สาธารณรัฐอินเดีย/Republic of India เรียกตามภาษาฮินดีว่า ภารัต หรือ ภารตวรรษ) มีประชากร 1,029,991,100 คน เป็นฮินดู 82% มุสลิม 12% (ส่วนใหญ่เป็น สุหนี่ มีกลุ่มชาวชีอะฮ์ที่เข้มแข็งอยู่บ้างในคุชราต และในเมืองใหญ่อย่างลัคเนาว์ และไฮเดอราบาด ที่คนชั้นสูงมีเชื้อสายเปอร์เซีย) ชาวคริสต์ 2.3% สิกข์ 2% ชาวพุทธ 0.7% (0.7%=7.2 ล้านคน ส่วนมากอยู่ในรัฐมหาราษฎร์ สิกกิม อรุณาจัลประเทศ ชัมมู และกัศมีร์/แคชเมียร์) เชน 0.4% อื่นๆ 0.6%

2. บังคลาเทศ (ชื่อทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนแห่งบังคลาเทศ/People’s Republic of Bangladesh เรียกตามภาษาเบงคลีว่า คณะประชาตันตรีพังคลเทศ) มีประชากร 131,269,860 คน เป็นมุสลิม 88% (เป็นสุหนี่เกือบทั้งหมด) ฮินดู 10% พุทธ น้อยกว่า 1.0%

3. ปากีสถาน (ชื่อทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามแห่งปากีสถาน/Islamic Republic of Pakistan) มีประชากร 144,616,639 คน เป็นมุสลิม 97% (4/5 เป็นสุหนี่ 1/5 เป็นชีอะฮ์) ชาวพุทธมีเล็กน้อยไม่ทราบตัวเลข

4. อัฟกานิสถาน (ชื่อทางการว่า รัฐอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน/Islamic State of Afghanistan) มีประชากร 26,813,057 คน เป็นมุสลิม 99% (เป็นสุหนี่ 84% เป็นชีอะฮ์ 15%) มีฮินดู และสิกข์บ้าง เป็นตัวเลขเพียงหลักพัน

สำหรับอินเดีย แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นฮินดู โดยแยกดินแดนฝ่ายที่คนส่วนมากเป็นมุสลิมออกไปเป็นประเทศปากีสถานแล้ว แต่เพราะอินเดียมีประชากรมากเป็นที่ 2 ของโลก (รองจากจีนที่มีประชากรมากที่สุด คือ 1,273,111,300 คน) อินเดียก็ยังมีประชากรที่เป็นมุสลิมมากเป็นที่ 2 หรือที่ 3 ของโลก คือ รองจากอินโดนีเซีย ที่มีประชากร 228,437,870 คน เป็นมุสลิม 87% และไล่เลี่ยกับปากีสถานที่มีตัวเลขดังแสดงข้างต้น

หมายเหตุ:

ตามตัวเลขโดยประมาณใน พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) จำนวนประชากรใน 4 ประเทศข้างต้น เพิ่มขึ้นเป็น

1. อินเดีย 1,147,995,900

2. บังคลาเทศ 153,546,900

3. ปากีสถาน 167,762,040

4. อัฟกานิสถาน 32,738,376 

ทั้งนี้ อัตราส่วนร้อยละของประชากรที่นับถือศาสนาต่างๆ โดยทั่วไป นับว่าเหมือนเดิม

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors
post