11. ปางนาคปรก
ประวัติความเป็นมาก็คือ ในสัปดาห์ที่ ๖ (พระไตรปิฏกว่าสัปดาห์ที่ ๓) พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากบริเวณต้นราชายตนะ ไปประทับยัง โคนต้นมุจลินท์หรือต้นจิก ขณะนั้น มีฝนพรำตลอด ๗ วัน พญานาค (นามมุจลินท์ ตามต้นไม้) ขึ้นมาจากนาคพิภพ มาขดเป็นบัลลังก์ให้ พระพุทธองค์ประทับ ตนเองแผ่พังพานบังลมฝนให้จนกระทั่งฝนหยุด จึงจำแลงกายเป็นมาณพหนุ่ม ยืนประคองอัญชลีนมัสการพระองค์อยู่
ชาวพุทธก็เลยสร้างพระพุทธรูปเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ ตั้งชื่อว่า ปางนาคปรก โหราศาสตร์ถือเอาเป็นพระบูชาประจำวันเสาร์
พญานาค หรืองูใหญ่ น่าจะหมายถึงกิเลสอันชั่วร้าย อันมีโลภ โกรธ หลง การที่พระพุทธองค์นั่งประทับงูใหญ่ หมายถึง การเอาชนะ กิเลสได้ทั้งหมด กิเลสที่ว่าร้ายกาจนั้น บัดนี้ได้อยู่ใต้อำนาจของ สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ไม่มีโอกาสฟุ้งขึ้นมารบกวนพระทัยของ พระพุทธองค์อีกต่อไป
ด้วยเหตุนี้แหละ จึงว่า ปางนาคปรก ควรจะเป็นพระพุทธเจ้าประทับ เหนือขนดพญานาค มิใช่ประทับในโพลงขนดพญานาค